อวสานของหุ้นปั่น

อวสานของหุ้นปั่น

อวสานของหุ้นปั่น

ปีเตอร์ ลินช์ นักลงทุนเอกของโลกคนหนึ่งนั้นเคยเขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ “One Up On Wall street” บอกว่าเวลาจะลงทุนในหุ้นเราจะต้องวิเคราะห์ดูว่าหุ้นตัวนั้นควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มไหนใน 6 กลุ่มนั่นก็คือ  หุ้นโตช้า  หุ้นแข็งแกร่ง  หุ้นโตเร็ว  หุ้นวัฏจักร  หุ้นฟื้นตัว และหุ้นมีทรัพย์สินมาก  ถ้าเราจัดกลุ่มถูกต้องแล้ว  กลยุทธ์ในการเข้าลงทุนหรือขายหุ้นก็จะง่าย   อย่างไรก็ตาม  ในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น  ผมคิดว่าเรายังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มใหญ่มาก  บางทีอาจจะเป็นร้อยตัวที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน 6 กลุ่มได้ตรง ๆ  และไม่ควรจัดเนื่องจากเราจะไม่สามารถใช้กลยุทธ์การซื้อขายตามที่ปีเตอร์ลินช์แนะนำ  หุ้นกลุ่มที่ว่านั้นก็คือหุ้นที่ผมจะเรียกว่า  “หุ้นปั่น” 

จริง ๆ  แล้วหุ้นปั่นนั้นก็คือหุ้นที่สามารถจัดเข้าเป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่ปีเตอร์ลินช์กล่าวถึง   เพียงแต่ว่ามีคนไป Manipulate หรือจัดการด้วยวิธีการต่าง ๆ  ที่ทำให้ราคาของหุ้นผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นตาม  “พื้นฐานทางเศรษฐกิจ”  ของบริษัททั้งทางต่ำหรือสูง  อย่างไรก็ตาม  มีน้อยมากที่หุ้นจะถูกจัดการให้มีราคาต่ำ   ร้อยละ 99 หุ้นถูก “ปั่น” ให้ขึ้นไปสูงลิ่วซึ่งจะทำให้คนทำรวยมหาศาลอย่างรวดเร็วโดยการขายทิ้งในราคาหุ้นที่สูงขึ้นมากเป็น  “ฟองสบู่”  “ชั่วคราว” ในระยะเวลาสั้น ๆ  ไม่เกิน 2-3 ปี   ดังนั้น  ถ้าจะพูดให้เข้าใจชัดเจนจริง ๆ  ก็คือหุ้นปั่นตัวนั้นอยู่ในกลุ่มหุ้นโตช้า  หรือเป็นหุ้นโตเร็วที่ถูกปั่น  หุ้นฟื้นตัวที่ถูกปั่น  เป็นต้น

หุ้นปั่นหรือหุ้นที่ถูกปั่นนั้น  มักจะถูกเลือกขึ้นมาด้วยปัจจัยหรือเหตุบางอย่างที่คนปั่นดูแล้วจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตลาด  และต่อไปนี้คือความเห็นหรือมุมมองของผมที่สังเกตสภาพแวดล้อมของตลาดและ “หุ้นปั่น” แต่ละตัวมายาวนาน

ประเด็นแรกก็คือ  หุ้นปั่นมักจะมีมากในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมเป็นกระทิงมายาวนานโดยที่มีช่วงที่ปรับตัวลงแรงน้อยมาก  และนี่ก็คือภาวะของตลาดหุ้นไทยในช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีมานี้  เพราะในสภาวะแบบนี้  คนอยาก “เก็งกำไร”  อยากที่จะได้ผลตอบแทนเร็วมากในระยะเวลาอันสั้น  ในขณะที่คน “ไม่กลัวความเสี่ยง”  พวกเขารู้ว่าบางทีตลาดก็ปรับตัวลงแต่ก็มักจะไม่มากและไม่ต่อเนื่อง  รอสักพักเดี๋ยวก็ “เด้ง” กลับขึ้นมา  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เวลากำไรพวกเขาเห็นว่ามักจะได้หลาย ๆ  เท่าหรือเป็นสิบเป็นร้อยเท่าอย่างในกรณีของบิทคอย  แต่เวลาขาดทุน  อย่างมากก็ขาดทุนแค่  “เท่าเดียว”  คือการลงทุนเหลือ 0 บาท  อย่างไรก็ตาม  เขาก็แทบไม่เคยเจอ

ประการที่สอง  หุ้นปั่นนั้นจะต้องมี “สตอรี่”  หรือเรื่องราวที่บริษัทจะทำที่น่าสนใจและมีศักยภาพที่สูงมาก  การเติบโตของกำไรจะต้องสูงลิ่วและโตต่อไปได้เรื่อย ๆ อีกนานจนกลายเป็นบริษัทที่ “ยิ่งใหญ่”  หรือดีกว่าเดิมมากในกรณีที่บริษัทยังย่ำแย่มีปัญหาต้องแก้ไขหรือเอาตัวรอดในกรณีที่เป็นหุ้น “กำลังฟื้นตัว” เป็นต้น   สตอรี่เหล่านั้นจะต้อง “จับต้องได้”  และมีแผนงานรองรับ  และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกก็คือ  กำลังลงมือทำและเริ่มเห็น “ความก้าวหน้า” ที่ชี้ให้เห็นว่าในที่สุดบริษัทก็จะประสบความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ   มองในแง่นี้แล้วก็ต้องยอมรับว่าหุ้นปั่นนั้น   จะต้องมีเจ้าของหรือผู้บริหารที่กระตือรือร้นและมีความคิดสร้างสรรค์พร้อมที่จะขับเคลื่อนกิจการให้ก้าวไปข้างหน้าและจะต้อง  “เล่นด้วย”  กับคนปั่น

ประการที่สาม  หุ้นปั่นนั้นจะต้องมีระบบหรือมีความ “พยายามร่วม”  ที่จะ “ประชาสัมพันธ์”  หรือ “เชียร์หุ้น” โดยฝ่ายต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ร่วมกัน 

ข้อสี่  หุ้นปั่นนั้นจะต้องมีหุ้นที่ Float หรือหมุนเวียนในตลาดน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายของคนที่เข้ามาเล่นหรือลงทุน  ก่อนที่หุ้นจะขึ้นนั้น  มูลค่าหุ้นหมุนเวียนอาจจะมีเพียงไม่เกิน 4-5 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่นักลงทุนรายใหญ่เพียงแค่ไม่กี่รายก็สามารถ Corner หรือกวาดซื้อหุ้นจนเกือบหมดได้    ซึ่งการที่เหลือหุ้นน้อยมากนั้น  จะทำให้การไล่ราคาให้ขึ้นไปสูงลิ่วทำได้ง่ายมาก 

ข้อห้า  หุ้นปั่นนั้นจะต้องมี  “เจ้ามือ” ที่ถือหุ้นจำนวนมาก  บางทีอาจจะถึง 5-10% ของทั้งบริษัท หรืออาจจะมีหลายรายที่ถือหุ้นรวมกันมากยิ่งกว่านั้น  และถ้าหุ้นที่ถูกปั่นนั้นมี Free Float แค่ 25-30%  ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนั้นถูก “Corner” โดยปริยาย  ราคาหุ้นหลังจากนั้นก็แทบจะ “ถูกควบคุม” ได้โดยเจ้ามือ

ข้อหก  หุ้นปั่นนั้น   คนที่เข้าไปเล่นมักจะใช้มาร์จินในการซื้อขายหลักทรัพย์สูง   พวกเขาต้องใช้เงินมากหรือต้องการ “เพิ่มพลัง”  ในการปั่นและหวังที่จะได้กำไรเป็นทวีคูณในระยะเวลาอันสั้น  เหนือสิ่งอื่นใด  อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้โบรกเกอร์ก็ต่ำมาก  นอกจากนั้น  เวลาที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปสูง  อัตรามาร์จินก็จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ  ดังนั้น  พวกเขาไม่คิดว่ามันจะเป็นความเสี่ยงที่จะถูก Force Sale หรือบังคับขายในยามที่หุ้นตกลงมา

น่าจะยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ผมไม่สามารถพูดได้หมด  แต่สิ่งที่ผมเห็นในหุ้นปั่น  “รอบนี้” หรือช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็คือ  หุ้นที่ถูกนำมาปั่นส่วนใหญ่เป็น  “หุ้นโตเร็ว” ในขณะที่หุ้นวัฏจักรและหุ้นฟื้นตัวที่เคยถูกนำมาปั่นก่อนหน้านี้  “เน่า”  หรือถูกเลิกปั่นกันไปแทบจะหมดแล้ว 

หุ้นปั่นที่มีราคาแพงผิดธรรมชาติมากนั้น  ในที่สุดก็หนีไม่พ้น  “กฎเหล็ก” ของการลงทุนที่ว่าในที่สุดหรือในระยะยาว  “ราคาหุ้นจะต้องสอดคล้องกับพื้นฐานของกิจการเสมอ”  และถ้าเรากำหนดว่าหุ้นที่จะเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่นนั้นจะต้องมีราคาเกินพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 50%   ก็หมายความว่าในตอนท้ายหรือตอน “จบเกม”  ของการปั่น  ราคาหุ้นก็น่าจะต้องตกลงมาอย่างน้อยประมาณ 30% แน่นอน  หุ้นปั่นจำนวนมากมีราคาปรับขึ้นไปสูงกว่า 50% มาก  หลายตัวขึ้นไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มี  ดังนั้น  ช่วงที่หุ้นปรับตัวลง  ราคาก็อาจจะตกลงมาเกิน 50% ได้ง่าย ๆ 

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ  “หุ้นปั่น”  รอบนี้ที่ผมคิดว่ามีเป็นร้อยตัว  ถึงเวลาจบหรือยัง?   คำตอบของผมก็คือ  ถ้าไม่จบก็น่าจะใกล้มากแล้ว  เหตุการณ์ที่ตลาดของหุ้นขนาดใหญ่มีการปรับตัวแรงเป็นบางวันตามตลาดหุ้นนิวยอร์คที่ปรับตัวลงแรงเนื่องจากสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงเดือนนี้ได้กระตุ้นให้นักลงทุนตระหนักว่าตลาดกระทิงอาจจะถึงเวลาหยุดลง  จริงอยู่ดัชนีหุ้นไทยก็ยังดูดีอยู่  แต่นั่นก็เป็นเพราะหุ้นใหญ่โดยเฉพาะหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม   แต่ถ้าดูหุ้นขนาดกลางและเล็กที่เล่นโดยนักลงทุนส่วนบุคคลก็จะพบว่าราคาของหุ้นตกลงไปพอสมควรและเป็นการตกลงมาต่อเนื่องน่าจะหลายเดือนแล้ว  ยิ่งกว่านั้น  ผลประกอบการของหุ้นจำนวนไม่น้อยที่มีราคาปรับตัวขึ้นไปมากจนเข้าข่ายเป็น “หุ้นปั่น” ก็มีผลประกอบการที่ย่ำแย่ “ต่อเนื่อง”  ซึ่งน่าจะทำให้ความมั่นใจต่อ  “สตอรี่” ของบริษัทลดลงไปมาก

ประเด็นสำคัญที่จะทำให้หุ้นปั่นจบจริง ๆ  นั้น  ผมคิดว่าอยู่ที่ “เจ้ามือ” เลิกเล่น  หรือ “Corner แตก” อาจจะเนื่องจากมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เทขายหุ้น  มีการ Force Sale ที่ทำให้หุ้นตกมาก  และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ  นักเก็งกำไรรายย่อย  “เลิกเล่น” เพราะไม่สามารถทำเงินได้และ  “หมดหวัง” กับสตอรี่ของบริษัท  บางทีพวกเขาอาจจะคิดว่า  “ไปเล่นหุ้นปตท. ดีกว่า” ดังนั้น  ข้อสรุปของผมก็คือ  นี่น่าจะเป็น  “อวสานของหุ้นปั่น”