หรือเราชอบเรื่องโกหก มากกว่าเผชิญกับความจริง

หรือเราชอบเรื่องโกหก มากกว่าเผชิญกับความจริง

เห็นภาพการ์ตูนนี้ทีใดก็ให้คิดถึงสังคมบ้านเราทุกที

หรือเราชอบเรื่องโกหก มากกว่าเผชิญกับความจริง

เหมือนจะเป็นสัจธรรมว่ามนุษย์เรามักจะชอบ “เรื่องโกหกที่ทำให้เราสบายใจ” มากกว่า “ความจริงที่ทำให้กระอักกระอ่วน”

นี่อาจจะเป็นธรรมชาติของคนทั่วโลก แต่หากเรานำมาใช้วิเคราะห์สภาพสังคมไทย ก็อาจจะได้บทเรียนและข้อเตือนใจได้ไม่น้อย

เพราะในกระบวนการสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ทันสมัยนั้นเราต้องสร้างคุณภาพของคนเป็นสำคัญ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมรับความจริงที่ทำให้เราไม่สบายใจว่าเอาเข้าจริง ๆ คุณภาพด้านความคิดความอ่านของคนไทยเรายังด้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศที่อาจจะเริ่มต้นสร้างชาติสร้างบ้านเมืองมาพร้อม ๆ กัน

เราอยากได้ยินอะไร ๆ ที่ทำให้เราสบายใจกว่าเช่น เรามีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใครอื่น เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำเหมือนคนอื่นเขา

อาจจะเป็นที่มาของคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” หรือ “นิยมไทย” เพื่อเป็นข้ออ้างว่า เราไม่สามารถจะมีมาตรฐานด้านนี้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ

ทั้ง ๆ คำว่าประชาธิปไตยอันหมายถึงสิทธิของประชาชนทั้งประเทศที่มีเท่าเทียมกัน ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันจึงต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน

นั่นคือค่านิยมสากล ไม่ได้ใช้เฉพาะบางประเทศ และยกเว้นในอีกบางประเทศ

การที่เราอยากเชื่อว่า “การทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้” ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “comfortable lies” ซึ่งหมายถึงการที่เราหลอกตัวเองว่า “เสรีภาพ” ในความหมายที่ตรงกับไทยคือการทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำโดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม

แต่พอเราถูกเตือนด้วย “uncomfortable truth” หรือความจริงที่ทำให้เราไม่สบายใจว่า “เสรีภาพ” ในความหมายที่แท้จริงนั้นมาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ" ด้วย ไม่ใช่ “ทำอะไรตามใจ” แล้วอ้างว่านั่นคือ “ความเป็นไทย” เราก็จะพยายามหลบหลีก ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง

ด้วยเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้เราไม่ยอมเผชิญกับความจริงที่อาจจะไม่ค่อยชอบฟัง ทำให้เราปฏิเสธที่จะแก้ปัญหาที่ยาก ๆ ปล่อยให้คาราคาซังจนบานปลายกลายเป็นเรื่องร้ายแรง และท้ายที่สุดก็แก้ไขไม่ได้ จนเป็นวิกฤตของบ้านเมืองไป

คำว่า “unpleasant truths” หมายถึงความจริงที่สำคัญแต่เราไม่อยากได้ยินได้ฟัง และเมื่อยอมฟังแล้ว ก็ไม่เข้าใจถึงสาระแห่งปัญหา ทำให้เราหลบเลี่ยงความเป็นจริง มารู้อีกทีก็สายเกินไป แก้ไขอย่างไรก็ไม่ทันการ

ความจริงที่เราพยายามหลีกเลี่ยง” มีอยู่มากมายในชีวิตประจำวันของคนไทย แต่เรามักจะไม่พูดถึง ไม่นำมาตั้งเป็นประเด็นเพื่อการแก้ไข หรือคิดว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ตัวเองไม่เกี่ยว กลายเป็นความเชื่อที่ว่า “บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว” ทั้ง ๆ ที่ปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศชาตินั้นเป็นเรื่องของทุกคน จะโยนไปให้ใครไม่ได้

แต่พอเป็นเรื่องดราม่า เรื่องย่อยง่าย เรื่องอื้อฉาวของคนอื่น เราก็จะแห่แหนกันเสพเป็นการใหญ่ทั้ง ๆ ที่พอถึงวันรุ่งขึ้นเรื่องราวเหล่านั้นก็สลายหายไป ไม่มีผลทางด้านบวกหรือสร้างสรรค์อะไรกับแก่นสารของบ้านเมืองเลย

ตรงกันข้าม เรื่องราวสำคัญ ๆ ที่เป็นตัวตัดสินอนาคตของประเทศชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น, การปฏิรูปบ้านเมือง การยกเครื่องระบบการศึกษา การสร้างประชาธิปไตยคู่กับการสร้างความรับผิดชอบนั้น ผู้คนก็มักจะหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “คนอื่น” ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องของเราเองทั้งสิ้น

ตราบที่เรายังหลีกหนี “ความจริง” ไปหา “เรื่องโกหกที่ทำให้เราสบายใจ” อนาคตของประเทศชาติก็คงตกอยู่ในมือของคนที่เชื่อว่า “เรื่องของบ้านเมืองไม่ใช่ธุระของฉัน”

หรือลึก ๆ แล้วเราชอบเรื่องโกหกมากกว่าความจริง