ประมงพื้นบ้านไทยทำประมงแบบยั่งยืน

ประมงพื้นบ้านไทยทำประมงแบบยั่งยืน

ไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสไปร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาเรื่อง "เข้าถึงประมงพื้นบ้าน ผลกระทบจากไอยูยูต่อประมงไทย" จัดโดย

ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ที่จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากจะได้สัมผัสบรรยากาศแม่น้ำไหลลงสู่ปากอ่าวไทยแล้ว ยังดีใจที่ได้เจอพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจากหลายจังหวัดที่มาร่วมหารือกันอย่างเปิดอก

ชีวิตชาวประมงเป็นอย่างไร หลังจากเกือบ ปีที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการประมงของประเทศใหม่ ที่เน้นการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายหรือ “ไอยูยู” และส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืน ตามแนวทางของยุโรปหรืออียู

แน่นอนนอกจากเราได้คุยกันเรื่องผลกระทบและความยากลำบากต่างๆ ที่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านต้องประสบในการทำตามนโยบายและกฎระเบียบใหม่ๆ แล้ว ซึ่งดิฉันก็ยอมรับว่ายากลำบากกันมากๆ แต่ดิฉันยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นต่อพี่น้องชาวประมงว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้จะยากและแสนสาหัส แต่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศของเรา เพื่อรักษาปลาและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของเรา ที่นับวันจะยิ่งลดน้อยถอยลง หากภาครัฐไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ไม่หันมาจำกัดและควบคุมการใช้ทรัพยากรอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการปราบการทำประมงผิดกฏหมาย ตั้งแต่วันนี้ ทุกอย่างจะสายเกินแก้

ที่ดีใจคือเมื่อได้เห็นพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านใส่ใจและให้ความสำคัญกับการทำประมงอย่างยั่งยืน และการรักษาทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน

ได้คุยกับคุณปิยะ เทศแย้ม จากบ้านทุ่งน้อย ต. เขาแดง อ. กุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ เขาเล่าว่า ชุมชนของเขาเป็นชุมชนขนาดเล็กเพียง 230 ครัวเรือน ที่อาชีพที่ทำมากันแต่บรรพบุรุษคือการทำประมงนี่แหละ ชุมชนของเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดลงของสัตว์น้ำเพราะการทำประมงแบบผิดๆ พวกเขาจึงสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน ที่ชาวประมงต้องใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกกฎหมาย ไม่ทำลายล้าง จับด้วยวิธีที่เหมาะสม เลือกประเภทจับ ไม่ทำลายที่วางใข่และที่อาศัยของสัตว์น้ำ ไม่ทำลายปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเล ที่สำคัญ เลือกจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย สัตว์น้ำก็จะมีการทดแทนรุ่นสู่รุ่นเกิดความยั่งยืน สามารถส่งต่ออาหารให้กับลูกหลานในอนาคต

เราสามารถสนับสนุนซื้อหาสินค้าประมงแบบยั่งยืนจากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านได้เช่นกัน

ประมงพื้นบ้านไทยทำประมงแบบยั่งยืน

ที่มา: facebook Piya Thedyam

การทำประมงอย่างยั่งยืนและการต่อต้านการทำประมงแบบไอยูยูในสายตาของยุโรปคืออะไร

ปลาเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ หากไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรปลาและควบคุมดูแลการจับปลาอย่างยั่งยืนในมหาสมุทรแล้ว ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทรัพยากรปลาจะไม่หมดไป สหภาพยุโรปมองว่าการทำประมงไอยูยูเป็นการลดทอนและทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรปลาและความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรทางทะเล จนเราอาจไม่มีเหลือให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

สถิติชี้ว่า มีสัตว์น้ำที่จับได้มาจากการทำประมงไอยูยูคิดเป็น19% ของการจับสัตว์น้ำทั้งหมดในโลก คิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 1 หมื่นล้านยูโร และมีสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายที่นำเข้ามาสู่ตลาดสหภาพยุโรปประมาณปีละ 500,000 ตัน หรือมูลค่าประมารณ 1.1 พันล้านยูโร สหภาพยุโรปถือว่าการทำประมงไอยูยูเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” เปรียบเสมือนการประกอบอาชญากรรมข้ามชาติเลยทีเดียว

ในฐานะที่เป็นตลาดหลักที่บริโภคและนำเข้าสินค้าประมงมากที่สุดในโลก สหภาพยุโรปจึงได้ตั้งประกาศปฏิธานไว้อย่างแน่ชัดว่า จะไม่ซื้อหรือนำเข้าสินค้าที่มาจากแหล่งที่มีการทำประมงไอยูยู กล่าวคือสินค้าประมงจากประเทศที่สามต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎระเบียบไอยูยูของสหภาพยุโรปเท่านั้นจึงจะสามารถส่งไปขายยังตลาดสหภาพยุโรปได้

รื่องไอยูยูเกี่ยวข้องกับการทำประมงและเรือประมงเป็นเรื่องหลัก แต่ก็เกี่ยวพันกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้ส่งออกในธุรกิจและอุตสาหกรรมประมงทั้งหมดแบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งบทบาทที่สำคัญของภาครัฐของประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปในฐานะ Flag, port, coastal และ market states ที่ต้องมีความรับผิดชอบในการควบคุมและตรวจสอบว่าการทำประมง IUU และปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล อาทิ ของ UN, FAO, RFMOs

ปัจจุบัน Fishery GDP ของไทยมีมูลค่าประมาณ 3285 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.14 แสนล้านบาท (114975 ล้านบาท) ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหารทะเลและประมง (รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำที่จับในทะเล และสัตว์น้ำเลี้ยง) อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี การส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเล (รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำที่จับในทะเล และสัตว์น้ำเลี้ยง) เป็นสินค้าส่งออกหลัก มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 1.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าและด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร แต่ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่ม และมีระดับความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานสากลได้อย่างดี

แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้บริโภคและผู้ซื้อโดยเฉพาะผู้บริโภคยุโรปไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และราคาเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าเหล่านั้นอย่างมาก ประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองมากจากนานาชาติและกลุ่ม NGOs อย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประเด็นด้านสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมี 2 ประเด็นปัญหาหลัก ได้แก่ 1) การทำประมงไอยูยู ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมง และ 2) การใช้แรงงานงานและสวัสดิการของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะบนเรือประมง ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นการค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าว ซึ่งเรื่องนี้ต้องแยกแยะออกจากเรื่องการทำประมงไอยูยู (ที่ไทยได้ใบเหลือง) ว่าเป็นคนละเรื่อง คนละปัญหากัน แม้จะมีความเกี่ยวโยงกันอยู่บ้างอย่างละเอียดอ่อน

ภาครัฐ ชาวประมง และพวกเราทุกคนได้เดินหน้ามาถูกทางแล้ว และการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องการทำประมงแบบไอยูยู และการใช้แรงงานในภาคประมงเป็นไปอย่างรุดหน้า เราไม่ได้ทำตามแนวทางยุโรปเพียงเพราะเราต้องการส่งสินค้าประมงออกไปขายในตลาดยุโรปเท่านั้น แต่การร่วมกันรักษาทรัพยาการธรรมชาติทางทะเล ปลา และท้องทะเล เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ไม่ใช่แค่พี่น้องชาวประมง การสนับสนุนการทำประมงแบบยั่งยืนและการต่อต้านไอยูยูจะเป็นคำตอบ ให้เรามีทรัพยากรเหลือไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้อย่างเพียงพอต่อไป