กรรมการบริษัทในภาวะตลาดผันผวน

กรรมการบริษัทในภาวะตลาดผันผวน

ตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น หลังช่วงต้นเดือนที่ตลาดผันผวนมาก ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนจะเตือนว่า

ความผันผวนในตลาดการเงินปีนี้จะมีมาก และจะเป็นความเสี่ยงสำคัญของปีนี้ ทั้งต่อภาคธุรกิจและนักลงทุน จากที่วัฏจักรการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนเป็นขาขึ้น และวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยก็จะเปลี่ยนเป็นขาขึ้นเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะสร้างความผันผวน ที่จะกระทบทั้งเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ 

คำถามคือ ในภาวะเช่นนี้ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทควรเป็นอย่างไร ควรทำอะไรหรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบที่จะมีต่อบริษัท นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ภาวะในตลาดการเงินโลกขณะนี้ พูดได้ว่ามีความผันผวนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัวดี เป็นความผันผวนที่เกิดจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกจะปรับสูงขึ้นจากนี้ไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน 

ประเด็นที่เป็นความไม่แน่นอนก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่อไร เร็วและรุนแรงขนาดไหน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เป็นความไม่แน่นอนที่ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนปรับฐานะการลงทุนและความเสี่ยงในการลงทุนของตน (repricing risk) เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงราคาหุ้นและการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ

ประเด็นที่กรรมการบริษัทต้องตระหนักในเรื่องความผันผวนก็คือ เศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขณะนี้กำลังขยายตัวดี การค้าระหว่างประเทศและการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวได้มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นขาขึ้น 

การเติบโตดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันให้อัตราค่าจ้างแรงงาน และราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจโลกปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกิดตามเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น คือ การใช้จ่ายในประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลาย ในส่วนของนโยบายการคลังสหรัฐก็จะมีการปฏิรูประบบภาษี ซึ่งรวมถึงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะทำให้มาตรการการคลังในสหรัฐมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก

สิ่งเหล่านี้ทำให้มีความเป็นห่วงว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวดี นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย จะยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น จนอาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น ราคาหุ้นหรือราคาสินทรัพย์ที่อาจเป็นแบบฟองสบู่ และการขาดดุลการค้าที่จะมากขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัว

เรื่องเหล่านี้เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐควรต้องรีบปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ซึ่งจะมีผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลงและภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอ 

การคาดการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่การปรับพอร์ตของนักลงทุน โดยขายสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับลดลง และสร้างผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับบริษัทธุรกิจ ความผันผวนที่มีมากขึ้นทั้งในตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจคงจะกระทบธุรกิจของบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม 

ผลกระทบอันแรก ก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทที่จะผันผวนหรือปรับลดตามภาวะตลาด ซึ่งจะกระทบฐานะการเงินของบริษัท เพราะมูลค่าของหุ้นที่บริษัทถืออยู่จะลดลงและผันผวนมากขึ้น 

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็จะกระทบต้นทุนในการกู้ยืมของบริษัท ทำให้บริษัทจะมีภาระในการชำระหนี้มากขึ้น ในกรณีที่บริษัทมีหนี้ที่ต้องชำระ หรือสร้างต้นทุนที่แพงขึ้นให้กับบริษัทที่ต้องกู้ยืมเงิน 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่จะมาจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ก็จะลดความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค ของลูกค้าบริษัท กระทบความต้องการซื้อสินค้าที่บริษัทผลิต และเมื่อต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น แผนงานลงทุนต่างๆ ของบริษัทที่คาดว่าจะทำ ก็อาจต้องทบทวนใหม่ว่ายังมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ จะให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนดี เท่ากับที่ประเมินไว้เดิมหรือไม่ เพราะต้นทุนการกู้ยืมแพงขึ้น รวมถึงควรที่จะชะลอโครงการลงทุนที่วางแผนไว้หรือไม่ 

ท้ายสุด การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะทำให้การแข่งขันในภาคธุรกิจรุนแรงขึ้น เพราะกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจจะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทจะต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด นำไปสู่การแข่งกันลดราคา ที่จะกระทบส่วนต่างกำไร หรือ margin ในการทำธุรกิจ

ทั้งหมดนี้ก็คือ ผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทในภาวะที่ต้นทุนการเงินปรับสูงขึ้น และความผันผวนในตลาดการเงินมีมากขึ้น

คำถามวันนี้คือ สำหรับกรรมการบริษัทควรต้องทำอะไรหรือไม่ในภาวะดังกล่าว เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ในประเด็นนี้ ในฐานะที่คณะกรรมการบริษัทเป็นจุดสูงสุดขององค์กร มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องกำกับดูแลกิจการของบริษัทให้เติบโตอย่างมั่นคง 

ผมคิดว่าในภาวะเช่นนี้ มี 4 เรื่องที่คณะกรรมการบริษัทสามารถพิจารณาดำเนินการได้เพื่อบริหารความเสี่ยง ที่อาจกระทบบริษัทจากภาวะดังกล่าว

1. ควรมีการติดตามสถานการณ์และมีการรายงานภาวะตลาดให้คณะกรรมการบริษัททราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่มีต่อฐานะการเงินและฐานะทางธุรกิจของบริษัท เป็นการรายงานของฝ่ายจัดการที่อาจมีความถี่หรือความละเอียดมากกว่าปกติ เพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการ

2. จากภาวะตลาดและต้นทุนทางการเงินที่เปลี่ยนไป อาจพิจารณาให้มีการติดตามเพื่อทบทวน (review) ประเด็นในแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทว่ายังสอดคล้อง และมีอะไรที่ควรต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ที่บริษัทมีแผนจะดำเนินการ

3. ทำการทดสอบภาวะเชิงวิกฤติหรือ stress test เพื่อประเมินว่า ภายใต้ภาวะตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบธุรกิจและฐานะทางการเงินของบริษัท มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงมากจนกระทบราคาสินค้า วัตถุดิบอื่นๆ ตามมา เช่น ราคาน้ำมัน สิ่งเหล่านี้จะกระทบฐานะการเงินของบริษัทปีนี้และปีหน้าอย่างไร 

ข้อสรุปเหล่านี้อาจจะช่วยชี้ประเด็นให้บริษัทจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจของบริษัท หรือมีการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อธุรกิจและฐานะการเงินของบริษัท

4. สื่อสารกับนักลงทุน พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าบริษัทประเมินผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจ และพื้นฐานทางธุรกิจของบริษัทอย่างไร จากความผันผวนที่เกิดขึ้น 

ตัวอย่างเช่น สามารถชี้แจงได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่ในวิสัยที่จะไม่กระทบปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจของบริษัท การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้บริษัทเข้าใจว่านักลงทุนมีความห่วงใยอะไรหรือไม่กับผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กรณีหุ้นของบริษัทปรับตัวลดลงมาก เพื่อให้บริษัทสามารถพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น พร้อมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า คณะกรรมการบริษัทไม่ได้ละเลย แต่ได้ติดตาม และให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อยู่

นี่คือ สิ่งต่างๆ ที่สามารถช่วยคณะกรรมการบริษัทในการทำงาน ในกรณีที่ความผันผวนส่งผลต่อธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ