แรงงานแบบไหนที่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ต้องการ

แรงงานแบบไหนที่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ต้องการ

ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตและการสื่อสารสูงจะใช้เครื่องจักร คอมพิวเตอร์หุ่นยนต์ทำแทนคนเพิ่มขึ้น ใช้แรงงานการผลิต

ในโรงงานลดลง ใช้คนที่มีความรู้ทักษะแบบใหม่ทำงานในภาคความรู้ ข้อมูลข่าวสาร บริการ เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 

ส่วนภาคการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตร ก็ต้องการคนทำงานที่มีความรู้ทักษะแบบใหม่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน คนที่ไม่มีความรู้ทักษะแบบใหม่ คิด/ทำอะไรใหม่ๆ แก้ปัญหายาก ซับซ้อนไม่เป็น ต้องตกงานหรือต้องไปทำงานใช้แรงบางอย่างที่เป็นงานหนักและได้ค่าจ้างต่ำ

ดังนั้น การจัดการศึกษาแบบเก่าที่มุ่งผลิตแรงงานที่มีความรู้ ทักษะบางอย่าง และการท่องจำข้อมูลไปทำงานอาชีพใดอาชีพหนึ่งในระบบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำกันมาในศตวรรษ 19-20 และที่ไทยยังคงทำอยู่เป็นส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องล้าสมัย ที่ต้องการการปฏิรูปหรือปฏิวัติครั้งใหญ่

ทักษะ ความรู้ คนแบบไหน ที่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ต้องการ

1. ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนรู้ต่อด้วยตนเอง อ่าน เขียน เลขคณิต คอมพิวเตอร์ เศรษฐกิจสังคม จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม รู้จักวิธีการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์เป็น มีจิตใจใฝ่รู้ ชอบอ่าน ค้นคว้า อยากพิสูจน์ อยากทดลอง รู้จักวิธีการค้นคว้าวิจัยด้วยตนเองเป็น อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (มีข้อมูลหลักฐาน มีเหตุผล พิสูจน์ยืนยันได้)

2. คิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ คิดอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับภาพส่วนใหญ่อย่างเป็นองค์รวม รู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพื่อที่จะก้าวไปขั้นต่อไปได้ มีทักษะในการแก้ไขปัญหา เรื่องการท่องจำความรู้ จำเป็นแค่บางเรื่อง

ในยุคนี้เราสามารถค้นหาข้อมูลความรู้ได้ง่ายกว่ายุคก่อนมาก ที่สำคัญกว่าตัวข้อมูลความรู้คือ เราจะรู้จักเลือกจับประเด็นตีความข้อมูลความรู้เพื่อเอาไปประยุกต์ใช้งานในโลกจริงได้อย่างไร

3. มีความคิดประดิษฐ์ สร้างสรรค์ มีจินตนาการ เปิดใจกว้าง คิดนอกกรอบ

4. รู้จักตนเอง รู้จักดูแลพัฒนาตนเอง ทั้งในเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ และในแง่การมีสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ในสังคม รู้จักพัฒนาวินัยในตนเอง พัฒนาภาวะผู้นำ

5. รู้จักร่วมมือ ทำงานเป็นทีมได้ดี รู้จักรับฟัง สื่อสาร ใจกว้าง มีวุฒิภาวะ ในการติดต่อกับคนอื่น เพื่อที่จะทำงานเป็นกลุ่ม องค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (รวมทั้งพัฒนาตัวเราเองได้มากขึ้น) รู้จักการบริหารจัดการความขัดแย้ง การต่อรองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวมในระยะยาว

6. รู้จักชุมชน ประเทศ และโลก มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตย รับผิดชอบ ใจกว้าง เคารพสิทธิของผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่น เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม เข้าใจถึงความเป็นของการร่วมมือ พึ่งพาอาศัยกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมทั้งเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ

7. การมีความซื่อตรง เป็นตัวของตัวเอง อย่างเข้าใจโลกที่เป็นจริงว่าเรื่องความเป็นธรรมและจริยธรรมเป็นสำคัญ และจำเป็นสำหรับส่วนรวมมาก เพราะถ้าส่วนรวมดี มีสุข เราแต่ละคนซึ่งต้องติดต่อสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยคนอื่นในสังคม ถึงจะอยู่ดี มีสุข ได้อย่างแท้จริง

การปฏิรูปการศึกษาเพื่อผลิตคนที่มีความรู้ ทักษะ ชนิดที่เป็นที่ต้องการในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวครูอาจารย์ เปลี่ยนวิธีการเรียน การสอน การวัดผล ใหม่หมด

หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ต้องเปลี่ยนจากการที่ครูสอนแบบบรรยายให้นักเรียนจำ ประมวลความรู้ เป็นการเรียนรู้แบบอภิปราย สัมมนา วิเคราะห์ ทำโครงการ ทำวิจัย ที่ผู้เรียนจะต้องอ่าน ค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น 

ครูต้องเปลี่ยนจากผู้บรรยายตามตำราเป็นโค้ช เป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนต้องฝึกการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น ฝึกภาคปฏิบัติ วิจัย ทำโครงการ แก้ปัญหา การฝึกทำงานเป็นทีม การรู้จักแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน เน้นการเรียนรู้ที่พอจะนำไปใช้งานในโลกจริงได้

วิธีการประเมินผลต้องเปลี่ยนตามด้วย ควรให้ผู้เรียนรู้จักการประเมินตนเองเป็น และช่วยกันประเมินเพื่อนได้ด้วย ครูช่วยประเมิน ว่าผู้เรียนแต่ละคนเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นแค่ไหนอย่างไร แทนที่จะสอนแต่วิชาการ และสอบแบบมาตรฐานวัดว่าใครเก่งกว่าใคร

ในชั้นประถมและมัธยม ครูประจำชั้นควรติดตามเด็กกลุ่มเดียวไปอย่างต่อเนื่อง ครูจะได้รู้จักพัฒนาการความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคน ช่วยดูแลพัฒนาอุปนิสัยใจคอ ค่านิยม (ความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางสังคม) ด้วย

หลักสูตรในระดับมัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัย ควรรวมทั้งปรัชญา ประวัติศาสตร์ การบริหารจัดการ (การร่วมมือ การขัดแย้ง และต่อรองอย่างสร้างสรรค์)เศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมวิทยาแนววิพากษ์ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นปฏิพัฒนาการ (วิภาษวิธี) เข้าใจบริบทสังคมจริงอย่างบูรณาการมิติทั้ง 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ระบบนิเวศ (รวมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี)

ผู้เรียนควรได้เรียนรู้กรณีศึกษาท้องถิ่นและภาพรวมของประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ได้ศึกษาวิเคราะห์จากปัญหาต่างๆ ในสังคมจริง ระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย และเชื่อมโยงกับปัญหาระดับประเทศ ระดับโลกเพื่อที่ผู้เรียนจะได้เข้าใจทั้งภาพระดับย่อย และภาพใหญ่ อย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม

วิธีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สำคัญวิธีหนึ่งคือ ช่วยให้เด็ก เยาวชน พลเมือง รักการอ่าน การค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ และรู้วิธีการศึกษาด้วยตนเอง โลกยุคใหม่เปิดโอกาสให้คนสามารถเรียนรู้ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่รู้ภาษาอังกฤษแบบใช้งานได้ 

ข้อสำคัญคือ ต้องช่วยให้เด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย รักการอ่าน อยากรู้อยากเห็น รู้จักคัดเลือก ประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเป็น พวกเขาจึงจะสามารถค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้มาซึ่งความรู้ ความเข้าใจเรื่องต่างๆ ที่สำคัญที่เราควรสามารถอธิบาย ถ่ายโอน ใช้งานได้ รวมทั้งควรรู้วิธีประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา และสร้างสังคมยุติธรรม สร้างสรรค์ อนุรักษ์ระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน