จีนประกาศเป็นเจ้าโลก AI?

จีนประกาศเป็นเจ้าโลก AI?

จีนประกาศจะเป็นผู้นำโลกทางด้าน Artificial Intelligence (AI) ภายในปี 2030 หรือจากนี้ไปอีก 12 ปี

จีนจะทำได้หรือไม่ และอเมริกาจะยอมให้จีนแซงหน้าในเรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิดมาตลอด

แม้นักวิเคราะห์บางค่ายจะบอกว่าข่าวเรื่องจีนกับ “ปัญญาประดิษฐ์” มักจะถูกขยายเกินความจริงบ่อย ๆ แต่ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลจีนวางหลักปักฐานเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ เราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์อย่างนั้นจริง

เพราะรัฐบาลจีนมีเงิน และมีนโยบายชัดเจน อีกทั้งยังตระหนักว่าการที่จีนจะก้าวเป็นผู้นำโลกนั้นไม่ใช่เพียงด้านเศรษฐกิจพื้นฐาน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง ไม่ใช่เพียงสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย หรือส่งดาวเทียมไปนอกโลกมากขึ้นเท่านั้น

จีนประกาศเป็นเจ้าโลก AI?

แต่ยังอยู่ที่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเรื่อง AI, machine-learning, robotics และอะไรใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการที่ “ปัญญาประดิษฐ์” สามารถทำให้อุตสาหกรรมของจีนล้ำหน้ากว่าชาติอื่น ๆ ให้จงได้

ที่สำคัญคือเอกชนของจีนพร้อมจะลุยไปข้างหน้า โดยมีรัฐบาลหนุนหลังทั้งด้านนโยบาย และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งระบบการศึกษาของจีนก็สามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับทิศทางนี้ด้วยเช่นกัน

อเมริกามี Silicon Valley ที่แคลิฟอร์เนียอันโด่งดัง แต่จีนมี Silicon Valley นับร้อย ๆ แห่งกระจายตัวไปทั่วประเทศ

เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว จีนประกาศ “Internet Plus” Artificial Intelligence three-Year Action Implement Plan

และต่อมาอีกสามเดือน จีนก็ประกาศ แผนนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นส่วนสำคัญของแผน 5 ปีฉบับที่ 13

ในแผนนี้มีการระบุชัดเจนถึง “แผนยักษ์” (megaprojects) 15 โครงการที่จะต้องทำให้เสร็จภายในปี 2030 ซึ่งรวมถึง Big Data, Intelligent Manufacturing และ robotics

แปลว่าจีนทุ่มเต็มที่ให้กับการก้าวกระโดดสู่การวิจัย และพัฒนาแนวทาง “อัจฉริยะ” ที่มากับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เป็นจุดแข็งที่สุดของโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐและยุโรป

วันนี้จีนถือว่าตัวเองได้ก้าวมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับโลกตะวันตกแล้ว และในหลาย ๆ ด้านก็ได้นำเอาวิทยาการใหม่เหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนจีน เช่น cashless society และการใช้ fintech เพื่อให้คนจีนกว่าหนึ่งพันล้านคน เข้าถึงบริการการเงินในทุกรูปแบบ เพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ความจริง แรงขับเคลื่อนหลักของจีนมาจากภาคเอกชนก่อน

Baidu (ไป่ตู้) ประกาศนโยบาย AI First ตั้งแต่ปี 2013 ด้วยการเปิดสถาบันการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งหรือ Institute of Deep Learning

ปีต่อมาไป่ตู้ก็เปิด Silicon Valley AI Lab

คงจำกันได้ว่าในปี 2015 ซีอีโอของไป่ตู้ชื่อโรเบิร์ต ลี ในฐานะเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาประชาชนได้เสนอให้ตั้ง “สมองจีน” (China Brain) เพื่อให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณในการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง

ถึงขั้นที่ประกาศว่ายินดีให้กองทัพจีนเจียดงบประมาณทางทหารมาพัฒนาความเป็นอัจฉริยะของจีนทางด้าน AI เพื่อประโยชน์ของทุกวงการที่ไม่จำกัดเฉพาะด้านความมั่นคงเท่านั้น

ไม่ช้าไม่นานชื่อของ Alibaba, Tencent และ JD.com ก็ได้รับการกล่าวขวัญในฐานะที่ได้สร้างความแข็งแกร่งด้านการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางระดับชาติของรัฐบาล

วันที่ “ปัญญาประดิษฐ์” AlphaGo ชนะแชมป์เกม “โกะ” ของจีนเมื่อเดือนมี.ค. 2016 อาจจะเป็นวันที่ส่งสัญญาณอันตรายถึงจีนว่า นวัตกรรมตะวันตกสามารถเอาชนะเกมอันสลับซับซ้อน ที่จีนเคยเชื่อว่าไม่มีใครเอาชนะได้

เหมือนเมื่อปี 1957 ตอนที่สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม Sputnik ขึ้นอวกาศเป็นครั้งแรก ทำให้อเมริกาช็อคตกเก้าอี้ และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีต้องประกาศแผน “อเมริกาต้องส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ก่อนประเทศใด ๆ ในโลก”!