ท่องเที่ยวไทย : โจทย์ใหม่ด้านนโยบาย

ท่องเที่ยวไทย : โจทย์ใหม่ด้านนโยบาย

ไทยจัดเป็นประเทศแนวหน้าของโลกด้านการท่องเที่ยว หากพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2559 พบว่า ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 9

 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 4 ของโลก 

หากพิจารณาจากรายได้สุทธิ (ที่หักค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทยแล้ว) จัดเป็นลำดับที่ 3 ของโลก เหนือกว่าประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้วเป็นจำนวนมาก เป็นรองแค่สหรัฐ กับสเปน 

ดังนั้น หากยึดรายได้เป็นหลัก อาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวของไทยเป็น Tourism 4.0 ไปแล้ว ในความหมายว่ามีรายได้ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว 

ในปี 2559 เมื่อเทียบกับประเทศที่ติดลำดับ 1 ใน 10 ของโลก ไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีการขยายตัวด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยว (วัดจากรายได้ท่องเที่ยวที่เป็นเงินตราต่างประเทศ) ที่มีการขยายตัวของรายได้สูงที่สุดในโลกอีกด้วย คือขยายตัวถึงร้อยละ 23 ในช่วงปี2557-2558 และร้อยละ 12.2 ในช่วงปี 2558-2559 (UNWTO 2018)

ความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของไทย ส่วนหนึ่งมาเกิดจากปัจจัยภายนอก คือ การไหลหลั่งเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนในลักษณะของหงส์เหิน (รูปที่ 1) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลทำให้โครงสร้างผู้มาเยือนของไทยเปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก 

หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไทยก็น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไม่น้อยหน้าอิตาลี ในปี 2559 (52.4 ล้านครั้งต่อปี) ผลของการขยายตัวยังทำให้ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวมีความสำคัญในการสร้าง GDP ของประเทศ กล่าวคือ สัดส่วน GDP ของภาคการท่องเที่ยวสูงกว่าภาคเกษตรและสัดส่วนการจ้างงานสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจีนได้ไหลทะลักเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนกระทั่งใน พ.ศ.2560 มีสัดส่วนในตลาดกว่าหนึ่งในสี่ และจำนวนถึงเกือบ 10 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 35.4 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวไปเรื่อยๆ และได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยอย่างพลิกโฉมหน้า และจะเกิดผลกระทบที่แผ่ไพศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ด้วยเหตุผลดังนี้คือ

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาอย่างมากมายจะทำให้เกิดปัญหาการรองรับด้านอุปทานเพราะแหล่งท่องเที่ยวไทยยกเว้นชายหาด มีกำลังรองรับต่ำ ส่วนชายหาดและทะเลไทย ก็มีความเปราะบางเชิงนิเวศ เมืองท่องเที่ยวที่เป็น Hub พัฒนาอย่างไม่เป็นธรรม มีความจอแจ การจราจรติดขัด เกิดจากการแย่งชิงเบียดใช้ทรัพยากรสาธารณะและสาธารณูปโภคกับคนท้องถิ่น หรืออาจทำให้คุณภาพชีวิตคนท้องถิ่นต่ำลง 

ท่องเที่ยวไทย : โจทย์ใหม่ด้านนโยบาย

รูปแสดงการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนระหว่างปี พ..2531-2560

ลักษณะพิเศษของนักท่องเที่ยวจีนก็คือมาในขนาด (Scale) และมีอัตราเพิ่ม (Speed) ที่ประเทศใดๆ ก็ไม่เคยเห็นมาก่อน นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของโลก ทำให้ธุรกิจพื้นถิ่นรองรับไม่ทัน ธุรกิจจีนจึงตามมาลงทุนเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย แต่การเข้ามาลงทุนของจีนต่างจากการลงทุนของชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว กล่าวคือ นักธุรกิจจีนมาลงทุนในทุกขนาด ทุกระดับ ทุกประเภท เช่น โรงแรมระดับตั้งแต่ 1 ดาวไปจนถึง 5 ดาว ร้านอาหารก็มีตั้งแต่แบกะดิน ร้านบะหมี่ยูนาน ภัตตาคาร ร้านขายปลีก ร้านขายยาหม่อง ไปจนถึงร้านดิวตี้ฟรี 

ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติอื่นๆ มักลงทุนในกิจการ 4-5 ดาวที่ใช้ทุนและหรือการใช้ทักษะที่คนไทยไม่มี เช่น กิจการดำน้ำ ปีนเขา นอกจากนี้ จีนยังนำนวัตกรรมเชิงการเงินเชิงพาณิชย์ตามมา ซึ่งจะต้องมีการกำกับดูแลที่ดี เพื่อจะทำให้การลงทุนเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศไทย

จีนเป็นประเทศที่พัฒนาฟินเทค (Financial technology) อย่างรวดเร็วประเทศหนึ่ง เศรษฐกิจดิจิทัลเริ่มซึมลึกไปทุกหย่อมหญ้า และจะกลายเป็นสังคมไร้ธนบัตร (Cashless society) ประเทศแรกๆ ของโลก และก่อนไทยมาก  คนจีนจึงเคยชินกับการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) และทำธุรกรรมผ่านระบบ E-commerce ครบวงจร 

แม้แต่เมื่อชาวจีนมาเยือนไทยก็ยังทำธุรกรรมอยู่ในระบบ E-Commerce ในประเทศจีน จนทำให้กำไรจากการขายการท่องเที่ยวของไทยตกอยู่ในประเทศไม่มากนัก ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการมาของนักท่องเที่ยวจีน และพยายามพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ก้าวทันสถานการณ์

นอกจากนั้นภาครัฐก็ต้องหาวิธีการมากำกับกระบวนการเหล่านี้เพื่อให้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งจากภาษี การจ้างงาน มูลค่าเพิ่มจากการพาณิชย์การธนาคารอยู่ในประเทศไทย และในมือคนไทยมากที่สุด  จึงมีความจำเป็นต้องติดตามวิวัฒนาการด้านการท่องเที่ยวของชาวจีน และศึกษาการกำกับการใช้เงินข้ามแดนผ่านถุงเงินอิเล็กทรอนิกส์ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่มารองรับ

โจทย์นโยบายด้านการท่องเที่ยวของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จากความพยายามหานักท่องเที่ยวมาเพิ่ม เป็นการกำกับกระแสเงินของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจีน และการขยายความสามารถ ของการรองรับนักท่องเที่ยว โดยการเพิ่มขีดความสามารถของเมืองท่องเที่ยว เพื่อมิให้การท่องเที่ยวสร้างผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น 

นโยบายเมืองรองที่สำคัญจึงไม่ใช่แค่ขยายดีมานด์เท่านั้น ยังต้องขยายซัพพลายอีกด้วย!