คอร์รัปชันดูดเลือดคนไทย ปีละหลายแสนล้าน!

คอร์รัปชันดูดเลือดคนไทย ปีละหลายแสนล้าน!

การสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าว่าด้วยคอร์รัปชัน คงทำให้หลายคนถามว่าไม่มีรัฐบาลไหนปราบเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบได้เลยจริงๆ หรือ

เพราะหนึ่งในรายงานบอกว่าในกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่มคือประชาชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน และ ข้าราชการภาครัฐ 2,400 คน ตัวอย่างพบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสูงขึ้น 37%

และเมื่อคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันในปี 2561 จะสูงขึ้น 48%

เมื่อถามถึงสาเหตุสำคัญ ส่วนใหญ่บอกว่ามาจากกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ “ดุลยพินิจ” ที่เอื้อต่อการทุจริตถึง 18.8%

รองลงมา คือ เรื่องของกระบวนการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 15.6%

อีกทั้งความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย และกฎระเบียบ 14.7%

คอร์รัปชันดูดเลือดคนไทย ปีละหลายแสนล้าน!

ถามถึงรูปแบบการทุจริตในสังคมไทยที่เกิดบ่อยคือการให้สินบน ของกำนัล และรางวัลต่าง ๆ 19.6%

การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก 16.2% และการทุจริตเชิงนโยบายโดยตำแหน่งทางการเมือง 13.6%

ถามว่า ประสิทธิภาพการต่อต้านคอร์รัปชันในหน่วยงานที่ดูแลพบว่า มีประสิทธิภาพดีขึ้น และความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ ประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐ ในการต่อต้านการทุจริตอยู่ในระดับเกิน 50% ถือว่าดีขึ้น สะท้อนว่าส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือในการต่อต้านทุจริตประพฤติมิชอบ

ที่ยังน่ากลัวกว่านั้น คือ จากการสำรวจเดือน ธ.ค.2560 พบว่าเปอร์เซ็นต์เงินเพิ่มพิเศษที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ  นักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ย 5-15%

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 2561 ประมาณ 66,271-198,814 ล้านบาท

เท่ากับสร้างความเสียหายให้กับจีดีพีของประเทศ 0.41-1.23%

และหากพิจารณาในส่วนงบประมาณทุจริตจะสร้างความเสียหายเฉลี่ย 2.29-6.86% ต่องบประมาณรายจ่าย

ตรงกันข้าม หากมีการลดการเรียกเงินสินบน ทุก ๆ 1% ส่งผลให้เงินจากคอร์รัปชันลดลง 10,000 ล้านบาท

วันต่อมา ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุลในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีโจทย์ที่ต้องแก้ในเรื่องนี้ ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขระบบ ที่จะลดคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

คณะกรรมการชุดนี้มีกรอบแนวคิดว่าปัญหากฎหมายที่มีจำนวนมากล้าสมัย และมีช่องโหว่จากการใช้ดุลยพินิจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

คุณประสารบอกว่าการลดการคอร์รัปชันที่ผ่านมาได้ใช้แนวทางการเพิ่มความเข้มงวด หรือขันน็อตในกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับไปสร้างปัญหา ทำให้คนดีทำงานได้ยาก

หากฟังข้อมูลรอบด้านแล้วภาพรวมของความพยายามจะลดการฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้จะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีช่องโหว่มากมาย รวมไปถึงทัศนคติของคนไทยต่อเรื่องนี้ ที่ยังไม่ตกผลึกถึงขั้นที่คนทั้งประเทศจะลุกขึ้นมาร่วมกันกวาดล้างมะเร็งร้ายเรื่องนี้ไปได้

ยิ่งมีเรื่องฉาวโฉ่ว่าด้วยรองนายกฯกับนาฬิกาหรู  อดีตนายตำรวจใหญ่บอกว่า “ยืม” เงิน 300 ล้านจากผู้ถูกกล่าวหาฟอกเงินและ “เจ้าสัวล่าสัตว์” มาตอกย้ำด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าคนไทยในระดับสูง คนมีเงินและตำแหน่งยังไม่เคารพในความรู้สึกของประชาชนต่อเรื่องร้าย ๆ อย่างนี้เลยแม้แต่น้อย

ตราบที่ศรีธนญชัยยังมีอิทธิพลต่อบ้านเมืองสูงเช่นนี้ การรณรงค์ของประชาชนยังต้องเพิ่มความเข้มข้นต่อเนื่องจึงจะมีความหวังสำหรับลูกหลานคนไทยจริง ๆ