อนาคตยูโรและยุโรป (9)

อนาคตยูโรและยุโรป (9)

อิตาลีมีปัญหาที่บริษัทขนาดใหญ่มีความสำคัญไม่มากพอในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มเดียวกัน ในเชิงสถิติภาพรวมของบริษัทใหญ่ๆเป็นอย่างไร

 เราจะพิจารณาข้อมูลขนาดของบริษัทเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างละเอียด จากข้อมูลหลายชุดหลายแหล่ง ซึ่งนักวิชาการอิตาลีวิจัยเรื่องนี้และมีสถิติค่อนข้างมาก

ข้อมูลชุดแรก จาก Fortune Global 500 ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 

เราจะใช้รายรับหรือยอดขายเป็นเกณฑ์ ซึ่งก็มักจะจ้างคนงานในระดับหลายหมื่นหลายแสนคนก็มี เช่น กรณีของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งคือ Walmart ของสหรัฐ จ้างคนงานถึง 2.3 ล้านคน 

ข้อมูล 500 บริษัทนี้มีค่าเฉลี่ยคนงานที่ 9.2 หมื่นคน อเมริกามีจำนวนบริษัทมากที่สุดคือ 133 บริษัท คิดเป็น 26% รองลงมาคือจีน 107 บริษัท หรือ 21.4 % 

ที่น่าสนใจคือถ้าเราเปรียบเทียบอิตาลี กับเยอรมนี และญี่ปุ่น จะเห็นว่า ทั้ง 3 ประเทศนี้ ล้วนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก แต่เกิดขึ้นหลังอังกฤษ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศต้องการไล่กวดทั้งอังกฤษ และสหรัฐ 

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตสำหรับอิตาลีคือ มีบริษัทขนาดใหญ่เพียง 7 บริษัท หรือคิดเป็นเพียง 1.4% ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอิตาลีมีภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ และมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับท็อป 10 ของโลก ขณะที่เยอรมนี และญี่ปุ่นมี 29 และ 49 บริษัทหรือ 5.8% และ 9.8% ตามลำดับ 

บริษัททั้ง 7 บริษัทของอิตาลี เป็นบริษัทที่อยู่ในกิจการน้ำมัน ไฟฟ้า ไปรษณีย์ หรือสถาบันการเงินและโทรคมนาคม ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต่อมาแปรรูปเป็นเอกชนแต่รัฐยังถือหุ้นใหญ่ 

แต่อิตาลีไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตประเภท Manufacturing ติดอันดับ ทั้งๆ ที่ก่อน และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อิตาลีเคยมีบริษัทขนาดใหญ่ไปเปิดกิจการที่ต่างประเทศ เช่น Fiat (รถยนต์) Pirelly (ยาง) Electrolux (เครื่องใช้ไฟฟ้า) Benetton (เสื้อผ้า) Olivetti (เครื่องพิมพ์) เป็นต้น 

บริษัทเหล่านี้ไม่ติดอันดับ Global 500 บริษัท ทั้งๆที่ Fiat ของอิตาลีเริ่ม และขยายตัวก่อน Toyota ของญี่ปุ่น Fiat ถูกญี่ปุ่นและเยอรมนี ทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น

ข้อมูลชุดที่สองจากนักเศรษฐศาสตร์อิตาลี Amatori และคณะ 

ข้อมูลในปี 2007 ขนาดของบริษัทในอิตาลีทั้งประเทศ จะมีคนงาน 4 คนโดยเฉลี่ยต่อบริษัทหรือต่อโรงงาน เยอรมนี 13.3 คน สหราชอาณาจักร 11.1 คน ฝรั่งเศส 5.8 คน สเปน 5.3 คน 

ถ้าจำนวนบริษัทขนาดใหญ่มีสัดส่วนของคนงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ ยิ่งสูงมาก ก็หมายความว่า บริษัทขนาดใหญ่โดยรวมจะมีความสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 

ในกรณีนี้ Amatori และคณะพบว่า สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีคนงาน 250 คนขึ้นไป สัดส่วนของคนงานในภาคอุตสาหกรรม ของอิตาลีจะอยู่ที่ 22% ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ EU ที่ 40.6%  หรือของเยอรมนีจะอยู่ที่ 53.2% ฝรั่งเศส 46.3% และสเปนอยู่ที่ 26% แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบริษัทขนาดใหญ่ของอิตาลีมีน้ำหนักในสัดส่วนของคนงานในระบบอุตสาหกรรมโดยรวมน้อยกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป

ข้อมูลชุดที่สามจากข้อมูลของ Eurostat สำหรับปี 2008 

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ขนาดของบริษัทดูจากจำนวนคนงานคิดเป็นร้อยละจากค่าเฉลี่ยของสาขาต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมใน 5 ประเทศโดยรวมพบว่า ในภาคอุตสาหกรรม เยอรมนีมีค่าสูงสุด อยู่ที่ 196.8% ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร 113.3% ฝรั่งเศส 75.9% สเปน 64.5%  ต่ำสุดคือ อิตาลี 49.5% ตอกย้ำเช่นเดียวกันว่า อิตาลีมีบริษัทขนาดใหญ่น้อยกว่ากลุ่มดังกล่าว 

ถ้าดูเป็นรายสาขาแม้เป็นสาขาที่ใช้เเรงงานมากที่อิตาลีถนัด เช่น อาหาร สิ่งทอ เสื้อผ้า หนัง ไม้ เฟอร์นิเจอร์ ขนาดของบริษัทเยอรมนีก็ยังใหญ่กว่าอิตาลี 3-4 เท่าเสมอ 

สาขาที่เน้นทุนมากกว่าแรงงานก็จะพบว่า เยอรมนีมีขนาดของคนงานมากกว่าอิตาลี 4-5 เท่าตัว เช่น ในกลุ่มพลังงาน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์เครื่องจักร สำนักงาน อุปกรณ์ไฟฟ้า และยานยนต์

ภาพใหญ่ที่พอจะสรุปได้ว่า ประเทศนี้ในภาคอุตสาหกรรม บริษัทขนาดเล็ก และขนาดกลางมีน้ำหนักและสำคัญกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในระบบ ถ้าดูจากขนาดของบริษัทเราพอจะสรุปได้ว่า ขนาดของจำนวนคนงานในช่วงตั้งแต่ปี 1911 ถึง 2007 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากอย่างมีนัยยะสำคัญ คือเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 คน 

การเปลี่ยนแปลงของคนงานในระยะยาวประมาณ 100 ปีนี้โดยเฉลี่ยจะมีลักษณะเป็นรูปตัวยูกลับหัวกลับหาง โดยมีช่วงที่มีคนงานสูงสุดอยู่ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 

ถ้าใช้ข้อมูล 10 ปีจาก 100 ปี เราจะพบว่า คนงานโดยเฉลี่ยต่อโรงงานลดลงมาตลอด เช่น สิ่งทอ เมื่อ 100 ปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 52 คน ลงมาเหลือ 12.8 คน ใน 50 ปี ต่อมาอยู่ที่ 8.8 คน ในปี 2007 

หมวดเสื้อผ้า คนงานเฉลี่ยยิ่งเล็กลง ในสาขาเคมีภัณฑ์ ซึ่งอิตาลีเคยมีความได้เปรียบคนงานลดลงจากเฉลี่ย 55.7 คนลงมาเป็น 24 คน ที่ลดลงรุนแรงมากคือ หมวดอุปกรณ์เครื่องจักรสำนักงาน ซึ่งลดลงจากค่าเฉลี่ย 451.7 คน ในปี 1971 เหลือเพียง 6.9 คน 

เมื่อทศวรรษ 20 หมวดยานยนต์เคยอยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 300 คน ลดลงมาในปี 1996 เหลือเพียงแค่ 82 คน ทั้งหมดดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ของการหายหรือตายไปของบริษัทขนาดใหญ่ของอิตาลี

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของสัดส่วนคนงานในแต่ละอุตสาหกรรมของบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้คนงาน 500 คนขึ้นไป พบว่ามีมากและรุนแรง

ขอยกตัวอย่างเพียงบางสาขา เช่น สิ่งทอ เคยสูงสุดที่ 40% เมื่อปี1951 ต่อมาอีก 50 ปี ลงมาเหลือที่ 3% หรืออุปกรณ์เครื่องจักรสำนักงาน เมื่อปี 1961 เกือบทั้งหมดมีสัดส่วนอยู่ที่ 90% อีก 40 ปีต่อมา สัดส่วนนี้ลงมาอยู่ที่ 46.2% หรือเคมีภัณฑ์ เคยมีสัดส่วน 56% ในปี 1971 ลดลงมาเหลือ 25% ทั้งหมดนี้แสดงว่าบริษัทขนาดเล็กกว่า 500 คน มีบทบาทมากขึ้นในสาขานี้และสาขาอื่นๆ

ตั้งแต่ทศวรรษ 80 เรื่อยมา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะหลังยุคการปฏิวัติไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้นมีผลทำให้บริษัททั้งโลกลดพนักงานลง แต่จากงานวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยอิตาลีทำ Downsizing คนงานประมาณ 30% สูงกว่าที่อื่น สูงกว่าเยอรมนี และฝรั่งเศสที่ลดลงประมาณ 10%

โลกเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกราวศตวรรษ 18 โดยมีอังกฤษเป็นผู้นำ ตามมาด้วยสหรัฐ จากนั้นก็เป็นเยอรมนี ตามมาด้วยอิตาลีและญี่ปุ่น

สำหรับประเทศใหญ่ๆ นั้น อิตาลีเริ่มรุ่งเรืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 19 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีสามารถสร้างเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองเข้าสู่ยุคทองได้ประมาณ 20 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มแซงหน้าอังกฤษในปี 1973 ในช่วงสั้นๆ วัดจากขนาดของเศรษฐกิจ สามารถไล่กวดอเมริกาจนรายได้ต่อหัวต่างกันน้อยลง 

อิตาลีทำได้ดีในช่วงที่ประเทศสามารถเปลี่ยนโครงสร้างจากเกษตรเป็นอุตสาหกรรมทั้งเบาและหนัก โดยการสะสมปัจจัยการผลิต แต่บททดสอบความท้าทายต่อความถนัด และขีดความสามารถของอุตสาหกรรม รวมทั้ง บทบาทของผู้ประกอบการ และรัฐของอิตาลีอยู่ในช่วงที่มีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีครั้งที่ 3 ซึ่งเริ่มอย่างช้าๆ เป็นยุคปฏิวัติไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ จนถึงยุคของอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน 

ยุคหลังทศวรรษที่ 70 วิชาการด้านฟิสิกส์เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการความรู้และกำลังคนทางวิทยาศาสตร์ การทำวิจัยที่เป็นทางการ เป็นระบบในมหาวิทยาลัยและในบริษัทขนาดใหญ่ ต้องลงทุนทางด้าน R&D สูงซึ่งอิตาลีไม่เคยทำได้ดีเท่าเยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐ เพราะลงทุนใน R&D ต่ำกว่าร้อยละ 2 มาโดยตลอด ต่ำกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 3 ประเทศดังกล่าว 

ในภาคบริการและโทรคมนาคม อิตาลีล้าหลังอเมริกาประมาณเกือบ 10 ปี และไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งนวัตกรรม 

ผลที่ตามมาคือตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาตลอด อิตาลีมีผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity: TFP) ต่ำมากTFP นี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมหาศาล

อะไรคือเบื้องลึกและเบื้องหลังที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ของอิตาลีมีความสำคัญและบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับเยอรมันหรือญี่ปุ่นในภาคอุตสาหกรรม หรือการเป็นประเทศที่เศรษฐกิจชับเคลื่อนโดยนวัตกรรมอย่างแท้จริง