การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ (3)

การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ (3)

จากที่เราได้ศึกษากฎหมายที่กำกับดูแล TNC หรือบริษัทเครือข่ายคมนาคม ซึ่งให้บริการเทคโนโลยีผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ เพื่ออำนวยความสะดวก

ในการเดินทางมาแล้ว 2 ประเทศคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ฉบับนี้เราจะมาศึกษากฎหมายเรื่องนี้ในอีก 2 ประเทศเพื่อนบ้านของเราคือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แล้วย้อนกลับมาดูความคืบหน้าในบ้านเรากันบ้าง

อินโดนีเซีย และ เวียดนาม เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรในเมืองหลวงติดขัดเช่นเดียวกับบ้านเรา และเป็นประเทศที่บริการของบริษัทเครือข่ายคมนาคมอย่าง Uber และ Grab เข้าไปมีบทบาทในชีวิตการเดินทางของคนกรุงจำนวนมาก 

เมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง 2 ประเทศได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้ TNC สามารถให้บริการได้อย่างถูกต้อง เริ่มจากอินโดนีเซียกันก่อน

อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของเส้นทางการแก้ไขกฎหมายคมนาคมที่ค่อนข้างจะทรหด แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับบริการของ TNC กันอยู่ 

แต่เดิมนั้น กระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงที่ 32/2016 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนก.ย. 2559 และกฎกระทรวงที่ 26/2017 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเม.ย. 2560 กฎกระทรวงดังกล่าวทำให้บริการของ TNC เป็นบริการที่ถูกกฎหมายในประเทศ

แต่ในขณะเดียวกันก็กำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับรูปแบบของการให้บริการจำนวนมาก เช่น กำหนดให้จะต้องมีการจดทะเบียนรถที่นำมาให้บริการเป็นทรัพย์สินของบริษัท มีการกำหนดโควตารถที่จะนำมาจดทะเบียนและให้บริการได้ และกำหนดว่าการคิดค่าบริการจะต้องไม่แตกต่างไปจากค่าบริการของรถแท็กซี่ จนนำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มคนขับรถที่ให้บริการผ่านทางแอพพลิเคชั่น และได้นำกฎกระทรวงไปฟ้องเพิกถอนที่ศาลฎีกา

ภายในไม่กี่เดือนศาลฎีกาก็ได้มีคำสั่ง (เมื่อเดือนส.ค. 2560) เพิกถอนกฎเกณฑ์ 14 ข้อที่อยู่ในกฎกระทรวงที่ 26/2017 รวมถึงเรื่องการโอนรถให้บริษัท และการคิดค่าบริการด้วย โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า กฎกระทรวงดังกล่าวขัดกับกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าคือ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอินโดนีเซีย

ล่าสุดอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงที่ 108/2017 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กำหนดให้การคิดค่าบริการ ride-sharing สามารถกำหนดให้สูงหรือต่ำได้ภายใต้กรอบที่กำหนด และกำหนดให้รถที่นำมาให้บริการจะต้องติดสติ๊กเกอร์ขนาดรัศมี 15 เซนติเมตรที่กระจกหน้ารถให้เห็นเด่นชัดด้วย

การออกกฎเกณฑ์ของอินโดนีเซียเพื่อรองรับ TNC และเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันกับแท็กซี่ยังคงมีต่อไป โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการ ride-sharing หรือ e-hailing ในอินโดนีเซียมากกว่า รายซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

ในส่วนของเวียดนามนั้น นับว่ายังเป็นน้องใหม่ในเรื่องของการทำให้บริการ ride-sharing ถูกกฎหมาย โดยขณะนี้เวียดนามยังไม่มีการแก้กฎหมายเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เราได้ศึกษากันมา แต่กระทรวงคมนาคมเวียดนามได้เปิดโครงการนำร่อง (pilot programme) ให้บริษัทที่ให้บริการ ride-sharing ที่เข้าเงื่อนไข สามารถให้บริการได้ภายใต้สัญญา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันทั้ง Uber และ Grab ก็สามารถให้บริการอย่างถูกต้องในเวียดนามแล้ว 

จากที่เราได้ศึกษารูปแบบของการเปิดรับบริการของ TNC มาหลายๆ ประเทศ จะเห็นว่ารัฐบาลในประเทศที่จำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้การคมนาคมเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ต่างก็ต้องยอมรับการเข้ามาสู่ตลาดของ TNC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะมีรูปแบบในการรับเข้ามาอย่างไรเท่านั้นเอง เช่น แก้ไขกฎหมายเดิม ออกกฎหมายใหม่ หรือการออกโครงการนำร่องไปก่อนโดยยังไม่แก้ไขกฎหมาย

ในความเห็นของผู้เขียนเองคิดว่าการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลบริษัทเครือข่ายคมนาคมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนจำนวนมากที่ชอบใช้บริการจะสะดวกใจยิ่งขึ้นถ้าเป็นบริการที่ถูกกฎหมาย) โดยจะต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกก็อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้

ประเด็นสำคัญที่อยากจะฝากไว้ก็คือ การปรับปรุงกฎหมายในเรื่องนี้จะบรรลุผลสูงสุดหากผู้ที่อยู่เบื้องหลังมีกรอบความคิดที่เปิดกว้างและมองว่าการให้บริการของ TNC เป็นการให้บริการเทคโนโลยี และประเทศไทยจะทำอย่างไรให้มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดสรรทรัพยากรรถที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและปลอดภัยที่สุด

โดย... วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่(ประเทศไทย)จำกัด

[email protected]

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่