รูปแบบของการร่วมจ่าย ในระบบสาธารณสุข

รูปแบบของการร่วมจ่าย ในระบบสาธารณสุข

เวลาที่ฟังบางคนบางกลุ่มอ้างเหตุผลว่าควรได้รับบริการฟรีในระบบสาธารณสุข เพราะได้จ่ายภาษีอย่างอื่นให้รัฐแล้ว รู้สึกว่ามองในด้านเดียวมากเกินไป

 เพราะภาษีเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนความตายที่ทุกคนต้องตายเหมือนกันหมด จึงเป็นที่มาของคำพูดว่า ภาษี และความตาย เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น แต่ไม่รวมผู้ที่หนีภาษี เลี่ยงภาษีด้วยกลวิธีฉ้อโกงรัฐ รวมถึงการทุจริตคอรัปชันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย

ส่วนการบริการนั้นเป็นการจัดสรรงบประมาณของรัฐเพื่อให้บริการประชาชน เนื่องจากประชาชนไม่สามารถจัดการได้โดยตรง รัฐจึงเอาเงินภาษีมาดำเนินการในรูปแบบของงบประมาณรายจ่าย และทั้งผู้ไม่เสียภาษี เพราะไม่มีเงินได้หรือผู้เสียภาษีเงินได้ก็จะได้รับประโยชน์จากบริการของรัฐเหมือนกัน

แต่การจัดสรรงบประมาณให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือคนที่เสียเปรียบในสังคม รัฐต้องดูแลมากหน่อย และต้องพยายามให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม เพราะถ้ารัฐไม่ทำตรงนี้ ผู้ที่ไม่มีเงินได้พอแก่การเลี้ยงชีพย่อมอยู่อย่างยากลำบาก และในที่สุดก็คงหันหน้าไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ประกอบอาชญากรรม เป็นปัญหาสังคมที่รัฐต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายไปแก้ไขอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สังคมจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมมากบ้างน้อยบ้างตามกำลังและศักยภาพ และรัฐก็ต้องจัดให้ประชาชนที่เสียเปรียบในสังคมแข็งแรงมากขึ้น ยืนอยู่บนขาของตัวเองมากขึ้น หายใจด้วยจมูกของตัวเองมากขึ้น

ยิ่งประชาชนแข็งแรง สังคมก็แข็งแรง ประเทศชาติก็ยิ่งแข็งแรง แต่ถ้าประชาชนอ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือไม่พยายามช่วยตัวเอง ยกภาระทั้งหมดให้รัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลก็คงไม่สามารถอุ้มได้ และนั่นก็คือหายนะของประเทศชาติ

การมีส่วนร่วมของประชาชนในบริการของรัฐมีได้หลายอย่างหลายระดับ ขึ้นอยู่กับการกำหนดของรัฐ และความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชน

ระบบประชารัฐ ที่รัฐบาลปัจจุบันนี้กำลังพยายามผลักดันก็เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน แต่อยู่ในภาคส่วนของประชาชนที่ทำการค้าการลงทุนในธุรกิจที่รัฐต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ก็มีงานหรือกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ประชาชนคนธรรมดา ก็สามารถเข้าร่วมโครงการประชารัฐได้ 

ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศก็เป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐ และประชาชนควรร่วมกันสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้แข็งแรง โดยไม่ต้องให้รัฐเป็นผู้ออกแรงแต่เพียงฝ่ายเดียว

ในหลายประเทศ รัฐบาลออกกฎหมายที่เอื้อให้ระบบธุรกิจเข้ามาดำเนินการแทนรัฐ ในการกระจายความเสี่ยง และสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนซึ่งอาจเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการประกันชีวิต ประกันภัย ประกันสุขภาพ หรืออาจเป็นองค์กรอิสระที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพ ที่มีความคล่องตัวมีอำนาจในการตัดสินใจ โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากรัฐบาล เช่น โครงการ Medicare และ Medicaid ของสหรัฐ ที่ให้แต่ละมลรัฐดำเนินการ และรัฐบาลกลางเป็นผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งจากงบประมาณของรัฐบาลกลาง

ส่วนของโครงการหลักประกันสุขภาพ ที่ภาคธุรกิจบริษัทประกันเข้ามาดำเนินการ เรียกว่า Co-insurance ส่วนที่องค์กรอิสระของรัฐดำเนินการมักเรียกว่าCo-payment ซึ่งก็คือ การร่วมจ่าย ในความหมายรวมนั่นเอง 

รูปแบบการร่วมจ่าย ไม่ว่าจะเป็น Co-insurance หรือ Co-payment มีความหลากหลายในรูปแบบ ระหว่างประชาชนผู้ใช้บริการ กับบริษัทหรือองค์กรที่รับผิดชอบ อาทิ

1. กำหนดเป็นร้อยละ ว่าประชาชนจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือบริษัทหรือองค์กรที่บริหารรับผิดชอบส่วนที่เหลือ

2. กำหนดเป็นจำนวนเงินเป็นรายครั้งที่เข้ารับบริการว่า ประชาชนจ่ายจำนวนเงินเท่าไรในแต่ละครั้งที่รับบริการ ส่วนเกิน บริษัทหรือองค์กรที่รับผิดชอบจ่าย

3. กำหนดจำนวนเงินที่ประชาชนจ่ายต่อปี ส่วนที่เกินกว่านั้นบริษัทหรือองค์กรที่รับผิดชอบจ่าย 

วิธีนี้เรียกว่าหักเป็นค่าลดหย่อน หรือ deductible เช่นกำหนดว่า แต่ละปีประชาชนจ่ายสูงสุดที่เพดาน 5,000 บาท ส่วนที่เกินกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไร บริษัทหรือองค์กรที่รับผิดชอบเป็นผู้จ่ายทั้งหมด

4. กำหนดให้บริษัทหรือองค์กรจ่ายเป็นร้อยละ ขึ้นอยู่กับรายได้ของประชาชนผู้รับบริการ เช่นประชาชนรายได้ไม่เกินหนึ่งแสน บริษัทหรือองค์กรรับผิดชอบจ่าย 100% 

รายได้หนึ่งแสนถึงสองแสน บริษัทหรือองค์กรจ่าย 80% รายได้สองแสนถึงสามแสน จ่าย 60% รายได้สามแสนถึงสี่แสน จ่าย 40% รายได้สี่แสนถึงห้าแสนจ่าย 20% และรายได้เกินกว่าห้าแสน ไม่ต้องมีการจ่ายจากบริษัทหรือองค์กรที่รับผิดชอบ

5. กำหนดว่าประชาชนผู้ใช้บริการจ่ายในจำนวนเงิน ที่กำหนดขั้นพื้นฐานที่เป็นส่วนลดหย่อนหรือ deductible ครบแล้ว ส่วนที่เกินนั้น ประชาชนผู้ใช้บริการกับบริษัท หรือประชาชนจ่ายร่วมกัน ตามอัตราร้อยละที่ตกลงกัน

6. อีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันมากคือระบบ 80/20 ประชาชนผู้รับบริการจ่าย 20% อีก 80% บริษัทหรือองค์กรที่รับผิดชอบจ่าย

7. กำหนดระดับประชาชนผู้ใช้บริการเป็นระดับต่างๆ เช่นระดับทองแดง (Bronze) ระดับเงิน (Silver) ระดับทอง (Gold) และระดับแพลทินัม (Platinum) 

ระบบนี้ใช้กับโครงการโอบามาแคร์ หรือตามกฎหมาย Affordable Care Act โดยบริษัทประกันหรือองค์กรที่รับผิดชอบจ่ายตามระดับต่ำไปหาสูง 60%, 70%, 80%, 90% ในขณะที่ประชาชนผู้ใช้บริการร่วมจ่าย จ่ายสูงไปหาต่ำ 40%, 30%, 20%, 10%

อาจจะมีรูปแบบอื่นที่แล้วแต่จะออกแบบ แต่ดูแล้วมีความเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทประกันหรือรัฐบาลจะทำหน้าที่นี้ คำนวณเรื่องความเสี่ยง และงบประมาณที่มีสำหรับการให้บริการประชาชน

การให้บริการเรื่องหลักประกันสุขภาพของประเทศนี้บางครั้ง แม้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่รัฐบาลก็อาจให้บริษัทเอกชนเป็นผู้บริหารความเสี่ยงให้ และจ่ายเงินค่าบริหารจัดการตามที่ตกลงกัน ซึ่งเอกชนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า มีการรั่วไหลน้อยกว่า และหน่วยบริการก็จะได้รับเงินค่าบริการทันที ไม่มีเรื่องติดค้างเบิกจ่ายล่าช้า หรืออื่นๆที่เป็นปัญหาโต้เถียงกันในปัจจุบัน

อยากฝากบอกทุกคนว่า ใครทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ หนีไม่พ้นสองเรื่องคือ ความตาย กับภาษี ฉะนั้นไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องยื่นแบบภาษีให้รัฐตรวจสอบ

แต่ถ้ามีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนเรื่องการซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้นจำเป็นต้องมีภาษีที่รัฐต้องเรียกเก็บไม่ว่าในรูปภาษีซื้อภาษีขายภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะถ้าไม่มีภาษีประเภทนี้รัฐจะเอาเงินจากไหนมาสร้างถนน ไฟฟ้า ประปา ทางระบายน้ำ กิจการสาธารณูปโภคให้ประชาชนใช้

ที่อ้างว่าเสียภาษีเวลาซื้อของในตลาด แล้วไม่ควรจ่ายเงินค่าใช้บริการสุขภาพรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย เป็นคนละเรื่องกัน เพราะเรื่องซื้อของเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับตัวเองนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ต้องเสียภาษีแต่เรื่องบริการสุขภาพเป็นเรื่องที่รัฐให้บริการ ไม่ควรเอามาปะปนกัน