“เมกะเทรนด์” เทรนด์เปลี่ยนโลก (2)

“เมกะเทรนด์” เทรนด์เปลี่ยนโลก (2)

“เมกะเทรนด์” เทรนด์เปลี่ยนโลก (2)

สวัสดีครับ

ในเดือนที่แล้ว ผมได้พูดถึงเมกะเทรนด์ ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญที่มีผลในวงกว้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก เมกะเทรนด์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจโลก โครงสร้างประชากร การพัฒนาสังคมเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และแน่นอนว่าได้ส่งผลให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจในหลายภาคส่วน สำหนับเดือนนี้ ผมจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ที่เริ่มเห็นกันโดยทั่วไป อันเป็นผลที่เกิดจากการปรับรูปแบบหรือบทบาทของธุรกิจเพื่อรองรับเมกะเทรนด์ครับ

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจไทยแลนด์  4.0 ตามเป้าหมายที่เน้นเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและนำไปสู่การปรับตัวเชิงโครงสร้างทั้งด้านผู้ประกอบการ นักลงทุน และห่วงโซ่การผลิต ซึ่งรับกับการเปลี่ยนแปลงตามเมกะเทรนด์และ Technology Disruption เราจึงเห็นถึงนวัตกรรมและรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาแทนที่สินค้าและบริการในรูปแบบเดิม

ทิศทางธุรกิจของหลายอุตสาหกรรม อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ธุรกิจค้าปลีก กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการผลิต ส่งผลให้เกิดการปรับรูปแบบการดำเนินงาน อาทิ การกระจายสินค้า การตลาด ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น สมาร์ทโฟนกลายเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของทุกคน ขณะที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังก้าวเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานและสมองของมนุษย์ บริษัทหลายแห่งได้เริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งนับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันสร้างความสมดุลระหว่างคุณค่าของ Human และ Innovation

ภาคธุรกิจการเงินก็ไม่อาจหลีกพ้นกระแสเมกะเทรนด์ได้เช่นกัน เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพลิกโฉมการบริการทางการเงินในหลายมิติทั้งแนวคิดและรูปแบบการทำงาน รวมทั้งมีผู้เล่นรายใหม่ที่เป็น non-banks เข้ามามีบทบาทมากขึ้น สถาบันการเงินหลายแห่งมีการใช้เทคโนโลยีฟินเทคและนวัตกรรมการเงินมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากสถาบันการเงินใดสามารถ “สร้างความต้องการ” ของลูกค้าในยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นผู้นำตลาดได้อย่างรวดเร็ว การสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเร่งพัฒนาการนวัตกรรมการเงิน แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติจะช่วยสนับสนุนแผนการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับสถาบันการเงินในการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์เพื่อให้บริการธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการให้บริการอีกด้วย

วันนี้เราจึงได้เห็นถึงระบบการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ กระบวนการขอสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending)    การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจน e-Marketplace Platform ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในเครือสามารถให้บริการ e-Marketplace Platform ได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2561 เป็นต้นมา

ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับและการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องทำครับทุกวันนี้เราอาจได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ กระทั่งภาคการเงินก็ยังต้องปรับบทบาทจาก Banker เป็น Financial Innovator ดังนั้น Keyword เพื่อชีวิตที่มีความสุขในทุกวันคือ Embrace Change ก่อนถูกอนาคตไล่ล่าครับ