มหาวิทยาลัยตอบสนอง-ชี้นำ-เตือนสติ​​​

มหาวิทยาลัยตอบสนอง-ชี้นำ-เตือนสติ​​​

วิกฤติมหาวิทยาลัยไทยในเรื่องธรรมาภิบาลของการบริหาร และการไม่มีนักศึกษาเข้าเรียน เป็นเรื่องที่มีการวิพากวิจารณ์กันมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องสมควร

เพราะมหาวิทยาลัยของรัฐใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างไรก็ดีทุกปัญหามีทางออกทั้งนั้นหากใช้สติปัญญาและยอมรับ “ราคา” ที่ต้องจ่าย

การที่สังคมไทยมีคนสูงวัยเป็นสัดส่วนมากขึ้น และมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาให้สอนน้อยลงอาจมองได้ว่าเป็นโอกาส ขึ้นอยู่กับว่าจะมองด้วย “แว่นตา” สีใด การมีผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้นเป็นโอกาสที่ชัดเจนสำหรับโอกาสทางธุรกิจ และการมีจำนวนนักศึกษาน้อยลงก็เป็นโอกาสของมหาวิทยาลัย ที่จะรับใช้ผู้เป็นเจ้าของอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการตอบสนอง การชี้นำและเตือนสติ

มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตรงกับที่ตลาดต้องการคือ การตอบสนอง ส่วนการชี้นำนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะตลาดอาจไม่ต้องการบัณทิตมาก แต่สังคมอาจต้องการมากก็เป็นได้ เช่น นักโบราณคดีนักวิชาการดนตรี นักคณิตศาสตร์นักสังคมสงเคราะห์ นักสังคมจิตวิทยา นักกีฏวิทยา ฯลฯ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องชี้นำเพื่อประโยชน์ของสังคมในระยะกลางและยาว

ส่วนการเตือนสติ เป็นบทบาทสำคัญเพราะมหาวิทยาลัยเป็นทั้งแขนขา และมันสมองของสังคมด้วย บางครั้งตลาดและสังคมอาจเพลิดเพลินไปกับ “แสงสี” จนลืมบางอย่างไปตัวอย่างได้แก่การสอนเรื่องการรู้จักใช้เงิน การรับเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิตและกำหนดนโยบายขององค์กรการอบรมเลี้ยงดูและสั่งสอนลูกหลาน การต่อสู้เพื่อให้คุณธรรมกลับมาเป็นหลักในการครองชีวิต ฯลฯ

ศาสตราจารย์ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทในการตอบสนอง ชี้นำ และเตือนสติ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นทั้งแขนขา และมันสมองของสังคมที่ตนเองต้องรับใช้

ในเรื่องการเลี้ยงดู และบ่มเพาะลูก ให้เติบโตเป็นคนมีคุณภาพของสังคม ผู้เขียนได้มีโอกาสชมวีดิทัศน์ในโทรทัศน์ และโซเชียลมีเดียเรื่อง“จ๊ะเอ๋” เล่นกับลูกของพ่อแม่ ซึ่ง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นผู้สนับสนุนเมื่อเร็วๆ นี้ และชอบมาก

ปัจจุบันมีคนกดดูแล้ว 12 ล้านครั้ง ซีรีส์นี้ของสสส.ตั้งใจให้ความรู้แก่พ่อแม่ในเรื่องการเลี้ยงดูลูก โดยเลือกเอาเนื้อหาทางวิชาการมาเผยแพร่แบบง่ายๆ ปนกับอารมณ์ขันอย่างน่ารัก

การเล่น “จ๊ะเอ๋” เอามือบังหน้า และเปิดหน้ากับทารกนั้น ในทางวิชาการเป็นการเล่นที่มีประโยชน์ เพราะเป็นการกระตุ้นให้สมองเห็นภาพ การเคลื่อนไหว และน้ำเสียงที่สนุกสนาน อีกทั้งทำให้เด็กเข้าใจการปรากฏ และไม่ปรากฏตัว(ของหน้าพ่อแม่เวลาเปิดปิดหน้า)อีกด้วย การเล่นง่ายๆ ที่ไม่มีต้นทุนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทารก

ตัวอย่างนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับมหาวิทยาลัยไทยว่า สามารถมีบทบาทต่อสังคมใน แนวเดียวกันได้อย่างไม่ยาก เพราะมีทั้งอาคารสถานที่ อุปกรณ์เงินทอง และคณาจารย์ ในยามที่หลายคนบอกว่าเป็นวิกฤติ เพราะอาจารย์ไม่มีชั่วโมงสอน ห้องเรียน ห้องสมุด และอุปกรณ์มีการใช้น้อยลง

อย่างไรก็ดี ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทดังกล่าวได้ดี บุคลากรโดยเฉพาะผู้บริหารและคณาจารย์ ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติฝังใจ (mindset) ที่ว่า เราเป็นมหาวิทยาลัยดังนั้นจึงต้องมุ่งสู่การผลิตปริญญา และมีงานวิจัยในระดับโลก (ที่อาจไม่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยตรง แต่ทำให้มหาวิทยาลัยมีอันดับสูงขึ้น อาจารย์ก็มีตำแหน่งวิชาการสูงขึ้น) ส่วนงานบริการสังคมนั้นเป็นงานแถม

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสักเรื่องที่สังคมไทยต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ครอบครัวไทยกำลังแตกสลาย “ครอบครัวอบอุ่น” อันเป็นฐานสำคัญของการสร้างอุปนิสัย และบุคลิกภาพอันเหมาะสมสำหรับเด็ก ตลอดจนการเรียนรู้สิ่งงดงามนั้นหาได้ยาก

ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าแทบไม่มีแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัยคนใด ที่ครอบครัวอยู่กินเป็นปกติสุข แทบทุกคนเลิกกับสามี หรือภรรยา จนพ่อแม่ลูกอยู่คนละทางอย่างไม่มีโอกาสได้อบรมสั่งสอนลูกอย่างที่ควรจะเป็น

ในครอบครัวที่มีฐานะพอมั่นคงขึ้น เช่นทำงานออฟฟิศหรือทำงานอิสระ ภาพเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมดคือ เอาลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง และในหลายกรณีมาก นำไปสู่ปัญหาหนักอก

ถึงแม้จะรักหลานแต่ต้องไม่ลืมว่าปู่ย่าตายายเหล่านี้เติบโตขึ้นในช่วง 50-60 ปีก่อน ซึ่งสภาพแวดล้อมแตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง การนำเอารูปแบบและวิธีที่ตนเองเคยถูกเลี้ยงดูมาใช้จึงขาดประสิทธิภาพ สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

หลายกรณีปู่ย่าตายายก็ตามใจ หรือไม่ก็ละเลยขาดความสัมพันธ์อันใกล้ชิด เพียงแต่ว่าอยู่ด้วยกันเท่านั้น โดยหลานมิได้ใยดีรักด้วยใจ หากอยู่เพราะไม่มีทางเลือก 

เด็กที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้บวกกับการรับสารที่ไม่เหมาะสมผ่านโซเชียลมีเดีย วัฒนธรรมยาเสพติด ความสัมพันธ์ทางเพศที่เสรี ฯลฯ ที่เหลือจึงมีแต่ปัญหา และเด็กเหล่านี้คือวัตถุดิบของสังคมเราในภายภาคหน้า ซึ่งจะมาทดแทนพวกเรา

สำหรับพ่อแม่ที่อยู่ด้วยกันเป็นปกติสุข ก็มีปัญหาเหมือนกันในหลายกรณี จนเรียกว่ากำลังเพาะพันธุ์ “ชั่วคนสตรอเบอรี่” (strawberry generation) กล่าวคือชอกช้ำได้ง่ายเหลือทน เรื่องก็คือพ่อแม่ลำบากมามาก ฝ่าฟันเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปได้ ดังนั้นเมื่อมีลูกจึงสงสารอยากให้สบายตามใจไม่อยากบังคับลูกจนบั่นทอนความสุข ไม่ต้องการให้ลูกต้องพานพบอุปสรรค หรือความยากลำบากไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในบ้าน (“เรียนอย่างเดียว” จะได้ก้าวหน้า)

เมื่อถูกเลี้ยงมาเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องอ่อนแอชอกช้ำได้ง่าย ไม่สู้โลก ไม่กล้ายืนหยัดบนขาตัวเองอย่างเต็มที่

เด็กที่มีลักษณะของการขาดวินัย ถูกตามใจ ขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา ฯลฯ มักนำไปสู่การขาด “will” (ความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ) เรียกภาษาสมัยใหม่ว่า มีชีวิตชิลๆ และนี่คือ “ราคา” ของการก้าวขึ้นมาเป็นคนมีฐานะ หากไม่ระมัดระวังการลี้ยงดูลูกให้ดี

มหาวิทยาลัยไทยมีศักยภาพมหาศาลหากร่วมมือกับเครือข่ายทุ่มเทแก้ไขปัญหาครอบครัวไทย ไม่ว่าด้วยงานวิจัย การเปิดหลักสูตรอบรมแก่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย การเผยแพร่ความจริงผ่านโซเชียลมีเดียให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันแก้ไข

การอบรมเลี้ยงดูลูกไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไม่ว่าในระดับใดทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การลองผิดลองถูกใช้กันมายาวนานในสมัยโลกเปลี่ยนแปลงช้าๆ อย่าง เป็นสุข 

แต่สำหรับโลกปัจจุบันวิธีการเดิมนั้นดูจะมี “ราคา” แพงเกินไป โดยเฉพาะหากลองผิดในตอนต้นของชีวิตแล้วโอกาสกลับตัวมาลองถูกอีกครั้ง มีน้อยมาก