ลงทุนในสภาวะ Healthy Correction

ลงทุนในสภาวะ Healthy Correction

อาจมีปัจจัยบางอย่างที่นักลงทุนกังวลจนสามารถลุกลามไปจนถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

ช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานักลงทุนเทขายหุ้นจนตลาดหุ้นทั่วโลกลงแรง นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงถึง 6% ในเวลา 2 วันทำการ และลดลงจากจุดสูงสุดจนถึงจุดต่ำสุดชั่วคราว (Peak to Trough) กว่า 10% ในเวลาเพียง 2 อาทิตย์ ปัจจัยหลักๆ ที่นักวิเคราะห์กำลังพูดถึงกันคือ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์จะตึงตัวมากขึ้นและทำให้ราคาเหมาะสมของหุ้นสามัญลดลง ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยี และเครื่องมือทางการเงินในปัจจุบันของฝั่งสหรัฐฯ มีพัฒนาการและความหลากหลายไปมาก เช่น การซื้อขายอัตโนมัติ (Algorithm Trading) เมื่อราคาลดลงสู่เป้าหมายการตัดขาดทุน ระบบจะทำการขายอัตโนมัติโดยไม่มีการทยอยขายเหมือนมนุษย์

เมื่อตลาดหุ้นลงแรงในระยะเวลาอันสั้น อาจมีปัจจัยบางอย่างที่นักลงทุนกังวลจนสามารถลุกลามไปจนถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ กระนั้นนักวิเคราะห์ในตลาดประเมินว่าการปรับลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกขณะนี้อาจเป็นเพียง “Healthy Correction” เท่านั้น หรือหมายถึง “การปรับฐานแบบสุขภาพดี” เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่แนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด IMF ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2018 – 2019 เพิ่มขึ้นอีก 0.2% เป็น 3.9% โดยมาจากนโยบายการปฏิรูปด้านภาษีของสหรัฐฯ อีกทั้ง ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับการประมาณการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นขาขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2009 แต่เมื่อตั้งแต่ปี 2017 ดัชนีเริ่มที่จะเพิ่มขึ้นมาเร็วกว่าการเติบโตของกำไร โดยมูลค่าของหุ้นในตลาดที่แพงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี กว่า 20% เพราะฉะนั้น ดัชนีที่ลดลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นเพียงแค่ทำให้ราคาหุ้นกลับสู่จุดที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่นักลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต้องติดตามคือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยทั่วไปอัตราเงินเฟ้อเพิ่มจาก 2 ด้าน คือ อุปสงค์ดึงและอุปทานผลัก (Cost-Push and Demand-pull) ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 2 ด้าน โดยด้าน Cost-push หรือระดับต้นทุนที่สูงขึ้น คือ อัตราค่าจ้างที่เร่งตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิด Hamburger Crisis และสำหรับด้าน Demand-pull หรือระดับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยถึงแม้แผนการลงทุนในสหรัฐฯ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสสหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นไปตามแผนจะทำให้แผนการลงทุนเพิ่มขึ้น และระดับราคาสินค้าทุนก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานลงอีกครั้ง แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี และทั่วโลกย่อมได้รับอานิสงค์จากสหรัฐฯ ด้วย เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นในระยะสั้นอาจจะมีความผันผวนต่อจากนี้ แต่ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตขึ้น และราคาของหุ้นจะเติบโตสอดคล้องไปกับกำไรเช่นกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า Healthy Correction ที่ใช้กัน ณ ตอนนี้ และน่าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้

โดยสรุป ราคาหุ้นโดยรวม ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง เมื่อมีปัจจัยลบ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจกระทบกับตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรหรือหุ้นกู้มาเป็นระยะ แต่ด้วยแนวโน้มของเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของกำไรที่ยังเป็นขาขึ้น พอร์ตการลงทุนที่แนะนำควรระมัดระวังมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ระยะเวลาเกิน 2 ปี (Duration<2) หรือ High-yield Bond เพื่อลดผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่การลงทุนในหุ้นยังสามารถลงทุนและคาดหวังผลกำไรได้ เพียงแต่ควรเลือกกองทุนที่มีมูลค่าไม่สูงจนเกินไปเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น, ตลาดหุ้นจีน ที่ระดับมูลค่าหุ้นไม่แพงโดย P/E Ratio อยู่ในระดับค่าเฉลี่ย 10 ปีและต่ำกว่า รวมถึงลงทุนในบริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย เช่น กลุ่มการเงินในสหรัฐฯ เป็นต้น

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager