ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและไทย

ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและไทย

ประเทศที่ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อมีปัญหาต้องตีความบทบัญญัติญัติของรัฐธรรมนูญ

หรือต้องพิจารณาว่า กฎหมายที่ตราออกใช้บังคับขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือมีกรณีต้องพิจารณาวินิจฉัยเมื่อมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือมีกรณีต้องวินิจฉัยว่า มีบุคลหรือองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่  

องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ถ้าเป็นระเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หากเป็นประเทศที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลสูงสุด หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นแล้วแต่กรณี

ในโลกนี้มีประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ 56 ประเทศ เช่น โบลิเวีย ชิลี เยอรมนี สเปน อียิปต์ แอฟริกาใต้  ไทย เกาหลีใต้  และ อินโดนีเซีย 

 ประเทศที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลสูงสุด หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอยู่ประมาณ 68 ประเทศ ประเทศที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลสูงสุด เช่น สหรัฐ เม็กซิโก แคเมอรูน ซาอีร์ อังกฤษ เดนมาร์ก อินเดีย และมาเลเซีย  ส่วนประเทศที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เช่นแอลจีเรีย ตูนีเซีย ฝรั่งเศส และกัมพูชา

สำหรับคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูงสุด หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่ทำหน้าที่เช่นศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจะมีบทบัญญัติให้ผูกพันองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจให้ผูกพันถึงหน่วยงานของรัฐอื่นด้วย ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เช่น คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน มีผลผูกพันองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น หน่วยงานของรัฐ และผูกพันศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส มีผลผูกพัน บรรดาฝ่ายบริหาร และองค์กรตุลาการ

ไทย มีศาลรัฐธรรมนูญกำเนิดขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆ ของรัฐ 

ต่อมาเมื่อมีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังคงบัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ยังคล้ายกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตรา 218 วรรค ห้า บัญญัติไว้ทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ยังคงบัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ในมา211 วรรค 4 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ

จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เดินมาตามแนวเดียวกันตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 สอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศ ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ถือหลักว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูงสุด หรือองค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ ลักษณะเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐ

ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์การอิสระ หน่วยงานของรัฐตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น อาจกล่าวโดยสรุปได้คือ หากมีกรณีที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ หน่วยงานอื่นของรัฐ มีกรณีที่ต้องดำเนินการหรือพิจารณา วินิจฉัยหรือต้องปฏิบัติในเรื่องหนึ่ง หากเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้ว ก็ต้องถือปฏิบัติ ดำเนินการ หรือพิจารณาวินิจฉัย หรือปฏิบัติ โดยยึดถือตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ประเด็นที่มีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในขณะนี้ คือกรณีการชุมนุมของประชาชนที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมี คำวินิจฉัยไว้แล้ว ว่ามีผลผูกพันอย่างไร คือ

กรณีที่นายเรืองไกร เป็นผู้ร้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ถูกร้อง ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ตามคำสั่งที่58 /2556 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 

คำวินิจฉัยโดยสรุป คือ การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพและเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ เป็นเพียงการเรียกร้อง และแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนเป็นจำนวนมาก ไม่มีมูลกรณีที่ได้กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศฯ กรณีจึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

อีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีนายสิงห์ทอง บัวชุม ผู้ร้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ถูกร้อง ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา68 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ตามคำสั่งที่59 /2556 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2556 

คำวินิจฉัยโดยสรุปคือ ประเด็นที่หนึ่งการชุมนุมตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน เป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก เป็นการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคหนึ่ง สำหรับข้อกล่าวอ้างว่า มีการทำผิดทางอาญา เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ประเด็นที่สองการการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. เป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไม่มีมูล กรณี เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

บทสรุป จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งที่58/2556 และคำสั่งที่ 59/2556 ดังกล่าว อยู่ในช่วงการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญ2550 คำสั่งทั้งสองฉบับ จึงมีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 218 วรรคห้า  

สรุปได้คือการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.ที่มีประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุน เป็นการใช้เสรีภาพ และการแสดงความเห็นทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ไม่มีมูลกรณีเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่มีมูลกรณีเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ 

 หากมีกรณีกระทำความผิดทางอาญา (เช่นอาจถูกกล่าวหาว่าบุกรุกหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ) ก็ต้องไปดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

 หากมีหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใดไม่ยอมผูกพัน กล่าวคือไม่ยอมรับผลของคำวินิจฉัย ไม่ยอมรับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว หน่วยงานหรือ องค์กรของรัฐนั้น ก็จะเป็นเป็นผู้กระทำการละเมิดและฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี2550 มาตรา218 วรรคห้าซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ