เอสเอ็มอีต้องหลีกเลี่ยง ความผิดเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น

เอสเอ็มอีต้องหลีกเลี่ยง ความผิดเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น

ธุรกิจที่ต้องการการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่จะต้องพัฒนาวิธีการดำเนินธุรกิจของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงความสามารถในการสร้างกำไร

เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคต แต่ยังจะต้องแสดงให้สังคมและชุมชนโดยทั่วไปได้เห็นถึงความรับผิดชอบและเอาใจใส่ของสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนโดยทั่วไปให้ดีขึ้นอีกด้วย

ว่ากันว่า ธุรกิจที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมักจะได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในวงกว้าง ไม่จำกัดเพียงแต่ในแวดวงของผู้ที่เป็นลูกค้าหรือคู่ค้ากันเองเท่านั้น ถึงกับมีการกล่าวว่า ธุรกิจที่แสดงความห่วงใยของสังคมและสิ่งแวดล้อม จะได้รับ “ใบอนุญาตให้มีสิทธิที่จะทำธุรกิจต่อไป” ได้จาก “ความรู้สึกร่วม” ของสังคมโดยทั่วไป ที่บางครั้ง อาจสร้างผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบได้มากกว่า “ใบอนุญาต” ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางการเลยทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบเชิงลบที่มักเกิดขึ้นกับธุรกิจ ที่มีประวัติในการเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจในขนาดเอสเอ็มอี ก็ตาม

ธุรกิจกับคอร์รัปชั่น มักจะเกี่ยวข้องกันผ่านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้รับการควบคุมดูแลการกระทำความผิดภายใต้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ซึ่งทั้ง “บุคคลธรรมดา” และ “นิติบุคคล” สามารถมีความผิดได้ตามกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ

เจ้าของหรือผู้บริหารของธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี จะต้องเข้าใจเงื่อนไขและวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และหลีกเลี่ยงจากการถูกดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับ “นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน” ได้แก่ โทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ

การให้ “สินบน” ที่ถือว่าเป็นการทำคอร์รัปชั่น จะรวมตั้งแต่ การมีเจตนาที่จะให้ ขอให้รับ หรือ รับว่าจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อ จูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือ ประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ก็จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคอร์รัปชั่นทั้งสิ้น

ในกรณีนี้ ทรัพย์สิน จะหมายถึงสิ่งที่มีราคาและถือครองได้ เช่น เงิน รถ บ้าน หรือของขวัญมีค่า ฯลฯ ส่วน ประโยชน์อื่นใด อาจหมายถึงการกระทำ เช่น การสร้างบ้านหรือตกแต่งบ้านโดยไม่คิดราคาหรือคิดราคาต่ำผิดปกติ การให้อยู่บ้านเช่าฟรี การปลดหนี้ให้ หรือการพาไปท่องเที่ยว เป็นต้น

จะเห็นว่า พฤติกรรมการคอร์รัปชั่นที่ผิดกฎหมายดังกล่าว เป็นเรื่องที่อาจอยู่ใกล้ตัวของเอสเอ็มอีอยู่มาก และสุ่มเสี่ยงต่อการได้รับโทษตามกฎหมาย

หากไม่แน่ใจว่า ใครที่จะเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะมีตัวอย่างคำจำกัดความให้ว่า หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ

พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ 

นอกจากนี้ ยังจะรวมความถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ อีกด้วย เนื่องจากความผิดเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น เป็นความผิดที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบในระดับนานาชาติ เพื่อป้องกันการทำคอร์รัปชั่นข้ามประเทศ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขของการกระทำความผิดไว้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับสินบนจะต้อง “มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกระทำที่ต้องการจูงใจนั้น”

เช่น ผู้จัดการบริษัทก่อสร้าง มอบเงินให้นายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารในเขตเทศบาล เพื่อจูงใจให้นายกเทศมนตรีอนุมัติให้ปลูกสร้างอาคารได้โดยเร็ว ทั้งๆที่หลักฐานการขออนุญาตก่อสร้างไม่ครบถ้วนพอที่จะอนุญาตได้ อันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่

การให้สินบนจะต้องเป็นการให้เพื่อจูงใจให้กระทำการ “อันมิชอบด้วยหน้าที่” เช่น ให้เงินตำรวจเพื่อไม่ให้จับกุมผู้กระทำความผิด และการให้สินบนผ่านตัวกลาง เช่น คู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนสมรสและไม่จดทะเบียนสมรส ญาติ หรือเพื่อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ หรือนิติบุคคลที่จ้างเพื่อเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยมีเจตนาเพื่อมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ แม้ว่าผู้ให้จะไม่ได้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ โดยตรงก็ตาม

ผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจเอสเอ็มอี จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ธุรกิจที่รับผิดชอบอยู่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น

ซึ่งสังคมทั่วไปถือว่าเป็นการทำธุรกิจที่ไม่โปร่งใส เอาเปรียบผู้ร่วมอาชีพ และอาจเป็นบ่อเกิดของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างผลกระทบในวงกว้างกับสาธารณชนโดยทั่วไป

ซึ่งจะทำให้สังคม หมดความเชื่อถือต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธุรกิจไปได้เป็นเวลานาน แสดงให้เห็นว่า การ อนุญาตให้ทำธุรกิจต่อไปได้ในสังคม ได้หมดอายุลงแล้ว !!