ผ่านกฎหมายอีอีซี ... เพิ่มความเชื่อมั่น หนุนการลงทุน

ผ่านกฎหมายอีอีซี ... เพิ่มความเชื่อมั่น หนุนการลงทุน

ประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็

ผ่านกฎหมายอีอีซี ... เพิ่มความเชื่อมั่น หนุนการลงทุน

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 170 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ ... (อีอีซี) เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

กฎหมายอีอีซี ถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ ร่างใหม่ได้เปิดช่องเพิ่มพื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง เท่าที่จำเป็น ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยก็ได้ โดยจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาในกรณีจำเป็น ในกรณีนี้พื้นที่บางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรีและสระแก้ว ซึ่งมีพื้นที่ติดกับจังหวัดที่เป็นอีอีซีเดิม จึงมีแนวโน้มเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในอนาคต

ร่างพ.ร.บ.อีอีซียังได้เพิ่มสัดส่วนรัฐมนตรี (รมต.) โดยเพิ่มรมต.กลาโหมและรมต.ศึกษาธิการ และด้านอื่นๆเข้ามาในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ “บอร์ดอีอีซี” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการอื่นรวมทั้งหมด 28 คน จากเดิมมีเพียง 14 คน โดยบอร์ดอีอีซีจะทำหน้าที่จัดทำภาพรวมและนโยบายการพัฒนาอีอีซี แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงาน ตลอดจนแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ซึ่งครอบคลุมหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมทั้งพิจารณาอนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ สัมปทาน เป็นต้น

กฎหมายอีอีซีฉบับนี้ ยังได้กำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยภายในเขตส่งเสริมฯรวม 5 สิทธิ คือ 1) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว 2) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร 3) สิทธิที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร 4) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และ 5) สิทธิประโยชน์อื่น รวมทั้งจะมีการตั้ง “กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” เพื่อพัฒนาชุมชน หรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่

คาดว่า นับจากนี้คงจะเห็น 1) การอนุมัติและการทยอยเซ็นสัญญาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและมาบตาพุด ออกมามากขึ้น 2) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP) ที่ชัดเจนขึ้น 3) แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้านอื่น เช่น การท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การพัฒนาเมืองใหม่ การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น และที่สำคัญ คือ 4) การลงนามความร่วมมือกับต่างประเทศในการยกระดับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

การผ่านร่างพ.ร.บ.อีอีซี มีแนวโน้มส่งผลดีต่อผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมาก เนื่องจากคาดว่าจะได้สิทธิ “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย” รวมทั้งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าและโรงงานให้เช่าสำเร็จรูป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมใน 3 จังหวัดเป้าหมาย : ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตามการเพิ่มขึ้นของนักลงทุน ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทและกำลังซื้อของประชากร

นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์งานก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและรายเล็กที่มีโอกาสประมูลงานหรือรับเหมาสัญญาย่อยจากกลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างประเภทที่เป็นโครงสร้าง เช่น ปูน เหล็ก เป็นต้น ธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น ธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน ที่จะได้รับโอกาสจากดีมานด์ที่อยู่อาศัยและความเจริญของหัวเมืองในภูมิภาค  รวมทั้งกลุ่ม Supporting Industries สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย  เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกที่คาดว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น

ทั้งนี้ บีโอไอได้รายงานภาวะการลงทุนในปีที่ผ่านมาว่ามียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,456 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 641,978 ล้านบาท ซึ่งเป็นการยื่นขอลงทุนในพื้นที่อีอีซี จำนวน 388 โครงการ  คิดเป็น 26.65% ของจำนวนโครงการทั้งหมด และมีมูลค่าเงินลงทุน 296,889 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.25% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด จึงคาดว่าเม็ดเงินลงทุนในปีนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนโดยมีการผ่านกฎหมายอีอีซีเป็นตัวเร่ง

ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนต่างรอความชัดเจนร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ได้ผ่านการพิจารณาของสนช.แล้ว เมื่อมีความชัดเจนมาถึงขั้นตอนนี้ ก็เชื่อมั่นว่าจะมีภาคเอกชนจำนวนมากเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆภายในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในเขตพื้นที่อีอีซีที่กำลังจะเป็น “สปริงบอร์ด” ต่อยอดโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด นำไทยสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตได้