พวกเขาคือนักรบดิจิตัลยุค blockchain รุ่นใหม่ของประเทศ!

พวกเขาคือนักรบดิจิตัลยุค blockchain รุ่นใหม่ของประเทศ!

ปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมเยียนบริษัทด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยที่เรียกว่า K Business-Technology Group (KBTG) ที่แยกตัวออกจากตึก

ที่แยกตัวออกจากตึกทำการของธนาคารหลัก เพื่อเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี

หลังจากไปพูดคุยกับคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำงานด้านนี้เพื่อให้กิจกรรมด้านธนาคารขององค์กรแห่งนี้เดินหน้ารับใช้ความต้องการของลูกค้ายุคดิจิทัลแล้ว ผมบอกตัวเองว่า มีความหวังกับบ้านเมืองนี้มากขึ้นอีกหนึ่งระดับ

เพราะคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ซึ่งเป็น CEO ของ KBTG สามารถระดมหนุ่มสาวไทยที่มีความเก่งกล้าสามารถทางด้านนี้มาจากหลาย ๆ วงการ และสร้างวัฒนธรรมการทำงานภายใต้บรรยากาศใหม่อย่างน่าทึ่ง

พวกเขาคือนักรบดิจิตัลยุค blockchain รุ่นใหม่ของประเทศ!

เชื่อหรือไม่ว่า อายุเฉลี่ยของคนทำงานกลุ่มนี้อยู่ระหว่าง 25-28 เท่านั้น

หลายคนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่น Oxford และ Imperial ของอังกฤษกับ Harvard และ MIT ของสหรัฐฯ บางคนทำงานกับ Google และ Amazon ในซิลิคอนแวเลย์มาก่อนแล้ว

สำหรับพวกเขาและเธอ คำว่า Blockchain, machine-learning, AI และ robots กับ cryptocurrencies เป็นเรื่องปกติประจำวันของชีวิต

ผมพูดคุยกับคนรุ่นใหม่หลายคนระหว่างการไปเยี่ยมเยือนแล้วก็มีความมั่นใจว่า มันสมองของคนรุ่นใหม่ของเราไม่ได้แพ้ใครในย่านนี้เลยแม้แต่น้อย

ที่พวกเขาขาดคือ บรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้ได้ อีกทั้งยังจะต้องตอบโจทย์ได้ว่าองค์กรที่ต้องการพวกเขานั้นมีเป้าหมายและหลักคิดตรงกับพวกเขาหรือไม่

เป้าหมายนั้นก็คือการกล้าทดลองกับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่ตอบสนองวิถีชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

คุณสมคิดบอกผมว่าคนที่มาทำงานใน KBTG จะต้องไม่คิดอย่างคนทำงานธนาคารแม้ว่ารากใหญ่เดิมขององค์กรจะเป็นเรื่องการเงิน

“เราต้องคิดอย่างคนทำเทคโนโลยีที่มีเป้าหมายคือการสร้างประสบการณ์หรือ experience ที่ดีและประทับใจให้กับลูกค้า” คุณสมคิด ซึ่งมีตำแหน่งเดิมเป็น Chief Information Officer (CIO) ของธนาคาร ก่อนจะถูกมอบหมายให้แยกตัวเองออกมาสร้างหน่วยงานใหม่เพื่อให้ธนาคารสามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงและรุนแรงของโลกการธนาคารบอกผม

แน่นอนว่าการสร้างองค์กรใหม่อย่างนี้ย่อมหมายถึงการลงทุนสูงโดยที่ไม่ได้หวังจะมีรายได้จากหน่วยงานนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้

ถ้าเป็นในอดีตจะเรียกหน่วยงานเช่นนี้ว่า cost center

“แต่เราไม่เรียกตัวเองเป็น cost center เราเรียกตัวเองว่าเป็น value center เพราะเราเชื่อว่าเรากำลังสร้างคุณค่าให้กับองค์กร มิใช่เป็นหน่วยงานใช้เงินอย่างเดียวเท่านั้น”

ผมถามว่าต้องใช้เวลานานไหมกว่าจะอธิบายให้ฝ่ายบริหารของธนาคารยอมลงทุนเพื่อแยกหน่วยงานนี้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

“ผมใช้เวลาคุยคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ, ประธานใหญ่) เพียง 5 นาทีเท่านั้น ท่านก็เห็นพ้องและตัดสินใจให้เดินหน้าเพราะ คุณปั้นมีความเข้าใจเรื่องนี้ก่อนผมด้วยซ้ำไป” คุณสมคิดเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานกับบทบาทใหม่ที่เข้าสู่ปีที่สามในวันนี้

บรรยากาศการทำงานที่นี่แตกต่างไปจากองค์กรธุรกิจทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การออกแบบที่ทำงาน, การแต่งกาย (ใส่กางเกงยีนส์ทำงานและเสื้อคอกลมแบบสตีฟ จ๊อบส์ได้สบาย) และภาษาที่ใช้ในการถกเถียงเพื่อหาสูตรเหมาะสมลงตัวของทุกฝ่าย

ที่สำคัญกว่ารูปแบบคือเป้าหมายของการทำงานที่มุ่งเกาะติดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของคนในสังคมที่มีความต้องการบริการจากธนาคารที่ผิดแผกไปอย่างมีนัยสำคัญจนเกือบจำไม่ได้

ทำให้ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เลิกเชื่อมายาคติเก่า ๆ ของไทยที่ว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” หรือ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” อีกต่อไป

เพราะภารกิจหลักของ “นักรบดิจิทัล” รุ่นใหม่ของไทยเหล่านี้คือการท้าทายความเชื่อเก่า ๆ และกล้าลองผิดลองถูกเพื่อทดลองหาของใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครเคยกล้าคิดกล้าทำมาก่อน

ระหว่างสนทนากับทีมหนึ่ง ผมถามว่า “มีใครไม่ลงทุนในบิทคอยน์บ้าง ยกมือขึ้น”

ไม่มีใครยกมือแม้แต่คนเดียว

มีเพียงเสียงกระซิบแผ่ว ๆ ว่า “พวกเราส่วนใหญ่ยังติดอยู่ครับ....เพราะราคามันร่วงลงมาเร็วเหลือเกิน”

แล้วทุกคนก็หัวเราะเสียงดังเหมือนความเสี่ยง, ความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของชีวิตสมัยนี้แล้ว!