สังคม "หวยหาย"

สังคม "หวยหาย"

คม "หวยหาย" ข่าว "คุณครูหวยหาย” เข้าสู่จุดไคลแม็กซ์เสียที หลังจากยึดพื้นที่สื่อมานานนับเดือน เรียกว่าช่วงข่าวไหน รายการใดนำเสนอประเด็นนี้

ก็จะดึงเรทติ้งกระจาย คนสนใจมากกว่าเลื่อนเลือกตั้งเสียอีก

ข้อมูลที่ตำรวจสอบสวนกลางและกองปราบบอกใบ้มาตลอด ไม่ต้องเดาก็รู้ว่างานนี้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผิด การยกตัวอย่างคดี "ครูจอมทรัพย์" ทำให้มีคนหัวใสแซวแบบชี้นำว่า "ผิดเป็นครู" วันสองวันนี้คงได้รู้ และปิดคดีแบบสะเด็ดน้ำภายในเดือนกุมภาฯ ตามบัญชา ผบ.ตร.

แต่สิ่งที่ไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองข้าม ก็คือการทำงานของตำรวจภูธรภาค 7 ที่สรุปไปก่อนหน้านี้ว่า "หมวดจรูญเป็นฝ่ายผิด และออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา "ยักยอกทรัพย์สินหาย" กับ "รับของโจร"

แค่ตั้งข้อหา "รับของโจร" พ่วงเข้าไปด้วยก็ถูกตั้งคำถามจากผู้รู้กฎหมายแล้วว่าเอาอะไรคิด เพราะพยานปากเอกที่ตำรวจภูธรภาค 7 อ้างเอง ก็บอกว่าเห็น"หมวดจรูญ" ก้มเก็บสลากที่ตกอยู่ ในเมื่อเก็บเอง ยักยอกเอาไว้เอง แล้วจะ "รับของโจร" ได้อย่างไร

ที่หนักไปกว่านั้น คือคำสัมภาษณ์ของ พล...ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. ที่ระบุทำนองว่าปัญหาการทำคดีของตำรวจภูธรภาค 7 มาจากเรื่อง“ประสบการณ์” พูดง่ายๆ คือ “ประสบการณ์น้อย” ทัศนะแบบนี้บอกเลยว่าชาวบ้านฟังแล้ววังเวง เพราะต้องไม่ลืมว่าคดีนี้ถูกยกระดับจากคดีโรงพัก มาถึงตำรวจภูธรจังหวัด กระทั่งมาสรุปสุดท้ายที่ตำรวจภูธรภาค คนที่รับหน้าที่แถลงคือ ผบช.ภ.7 ยศ "พล..." เท่ากับ ผบช.ก. ยังถือว่าประสบการณ์น้อยอีกหรือ

ถ้าคดีชาวบ้านพิพาทกัน ถูกยกระดับขึ้นมาถึงตำรวจภูธรภาคแล้วยังให้ความเป็นธรรมไม่ได้ ต่อไปชาวบ้านจะพึ่งใคร แล้วตำรวจโรงพักมีไว้แค่รับแจ้งความเท่านั้นหรือ

ที่สำคัญถ้าคดีของตนไม่เป็นคดีดัง ไม่เป็นข่าว ผู้บังคับบัญชาระดับ "นายๆ" ไม่ให้ความสนใจ (โดยอ้างว่าเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ จนสั่งการให้ระดับจังหวัด ระดับภาคดึงคดีมาทำเอง) แล้วชาวบ้านผู้เสียหายจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตนเองจะได้รับความเป็นธรรม นี่ยังไม่นับบางคดีที่มีตำรวจเข้าไปเอี่ยวกระทำความผิดเสียเองด้วย

คดี "หวยหายนอกจากสะท้อนปัญหาสังคมไทยแล้ว ยังสะท้อนความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำด้วยเช่นกัน