เมื่อ PM2.5 กับ AQI สูง แล้วจะหายใจได้ไหม

เมื่อ PM2.5 กับ AQI สูง แล้วจะหายใจได้ไหม

ตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. 2561 มีปรากฏการณ์ฟ้าหลัว เกิดภาวะทัศนวิสัยเลวร้ายขึ้นในกรุงเทพฯ ประกอบกับช่วงนั้นกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงาน

ของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการที่จะตรวจตราคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อประชาชน ได้แสดงตัวเลขคุณภาพอากาศในรูปของ PM2.5 ว่าเกินมาตรฐานไทยไปมาก ทั้งประกาศด้วยว่าค่า AQI (Air Quality Index) หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศในช่วงนั้น สูงกว่าค่า 100 อันหมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ

อากาศแบบนี้ใช้หายใจไม่ได้จริงหรือเปล่า ลองมาดูกัน 

สารมลพิษในอากาศมีมากมายหลายตัว 5 ตัวที่เป็นพื้นฐานและใช้วัดกันอยู่ทั่วไปคือ PM10, Ozone, CO, NO2, SO2 สังเกตได้ว่าไม่มีค่า PM2.5 ที่ว่านี่อยู่ด้วย 

PM (Particulate Matter) หมายถึง ฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็ง หรือของเหลวที่อยู่ในอากาศ  เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ คือเกิดจากกระแสลมที่พัดผ่านไปมา ทำให้เกิดฝุ่น เขม่าควันจากไฟป่า ฝุ่นเกลือจากทะเล และอีกหนึ่งกลุ่มเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์  ทั้งจากการเดินทางขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง จุดธูปเทียน หรือสูบบุหรี่  โดยในที่หนึ่งๆ อาจเกิดจากสาเหตุเดียว หรือหลายสาเหตุรวมกันก็ได้ แต่โดยปกติแล้วจะเป็นประการหลังมากกว่าประการแรก

การมีแหล่งกำเนิดต่างกัน ฝุ่นละอองนี้จึงมีองค์ประกอบหลากหลาย มีขนาดต่างๆ กัน ขนาดใหญ่ใหญ่ถึง 500 ไมครอน ขนาดเล็กเล็กได้ถึง 0.2 ไมครอน  

PM2.5 ในอากาศ จึงหมายความถึง อนุภาคที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน  ซึ่งขนจมูกคนกรองไม่ได้เพราะเล็กเกิน จึงถูกส่งผ่านลมหายใจเข้าไปถึงขั้วปอดด้านในได้ลึกสุด ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจก่อให้เกิดมะเร็ง อาการไอ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดอักเสบ ผิวหนัง ผื่นคัน การระคายเคืองตา เช่น โรคตาแดง ฯลฯ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีผู้เรียกร้องให้หน่วยราชการ โดยเฉพาะคพ. เพิ่มสารมลพิษ PM2.5 ตัวนี้เข้าไปในมาตรฐานคุณภาพอากาศอีกตัวหนึ่ง ซึ่งคพ.เองก็กำลังพิจารณาความเหมาะสมของงานส่วนนี้อย่างเข้มข้น และรีบด่วน

ส่วน AQI   เป็นคำเดียวโดดๆ  ที่ใช้สื่อสารกับประชาชนได้ดีกว่าการที่จะบอกว่า สาร A ปกติ สาร B เกินมาตรฐาน สาร C ต่ำมาก แต่สาร D เกินไปสุดๆ  ทางการทั่วโลกจึงนิยมใช้ค่า AQI ในการสื่อสารกับประชาชนมากกว่าตัวเลขทางวิทยาศาสตร์หลายตัวที่ซับซ้อน

AQI ถ้าเท่ากับ 100 หมายถึง ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้าค่าสูงกว่า 100 หมายถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งค่า AQI นี้ได้มาโดยการคำนวณเทียบกับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปของสารมลพิษ 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง  ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (respirable particulate matter, PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (หมายเหตุ : โปรดสังเกตว่ามีการวัดและเฉลี่ยค่าที่วัดได้ในห้วงเวลาทั้ง 1 ชั่วโมง, 8 ชั่วโมง และ24 ชั่วโมง ขึ้นกับความรุนแรงของผลกระทบในลักษณะผลกระทบเฉียบพลัน หรือผลกระทบเรื้อรัง) 

ดัชนีคุณภาพอากาศของวันนั้นจะอิง กับดัชนีคุณภาพอากาศของสารมลพิษตัวที่มีค่าสูงสุดในวันดังกล่าว เช่น AQI ของสาร A เท่ากับ 75, AQI ของสาร B เท่ากับ 82, AQI ของสาร C เท่ากับ 91 ค่ารายงานผล AQI ของวันนั้นก็จะเท่ากับ 91 โดยมีสาร C เป็นสารมลพิษหลัก และจะรายงานว่า คุณภาพอากาศวันนั้นปลอดภัยต่อการหายใจ เพราะมีค่าต่ำกว่า 100

การวัดดังกล่าวไม่ถูกต้องนักในเชิงผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะเวลาหายใจเข้าไป เราไม่ได้เลือกว่าจะสูดเฉพาะสารใดเข้าไป มันเข้าไปทั้งหมด ดังนั้นการที่ AQI มีค่าเท่ากับ 91 และมาจากสาร C ตัวเดียว จึงเป็นเพียงค่า AQI สูงสุดในสารมลพิษ 5 ตัวที่ว่า แต่ไม่ใช่ปริมาณสารมลพิษทั้งหมดที่สูดเข้าไปในร่างกายจริง

วิธีการที่ถูกต้อง คือ ต้องคำนวณปริมาณรวมของสารมลพิษทั้งหมดที่เข้ามาสู่ร่างกายเรา ไม่ว่า AQI ของตัวนั้นๆ จะมีค่าเท่ากับเท่าใด ซึ่งวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ก็คือ เอาค่า AQI ทุกตัวมาบวกรวมกัน ดูว่าผลรวมเป็นเท่าไร แล้วกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ว่า สมมติว่า ถ้า AQI รวมเท่ากับ 500 ถือว่าปกติ ถ้า 750 ต้องระวัง ถ้า 1000 อันตราย ฯลฯ  แต่ละประเทศก็ต้องกำหนดค่านี้กันขึ้นมาเองให้ดูแลสุขภาพของประชาชนได้ รวมทั้งนำไปใช้ในภาคปฏิบัติในบริบทของสังคมนั้นๆ ได้จริง ซึ่งค่าเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และจะไม่ได้มาง่ายๆ

แต่วิธีการนี้ ก็มีช่องโหว่อยู่อีก กล่าวคือ สารมลพิษแต่ละตัวมีผลกระทบไม่เท่ากัน สาร A อาจมีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า สาร B และสาร C แต่น้อยกว่า สาร D และสาร E  วิธีที่ถูกต้องกว่า คือ ต้องเอาความแรงของผลกระทบนั้นมาร่วมในการคำนวณด้วย 

สารใดมีความแรงมากกว่าก็ต้องได้น้ำหนักในการคำนวณมากกว่า ฯลฯ แล้วจึงเอาคะแนนผลเสียต่อสุขภาพ ของสารแต่ละตัวมารวมกัน AQI แบบใหม่นี้จึงเรียกกันว่า AQHI หรือ Air Quality Health Index หรือ ดัชนีสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ

มาตรการแบบ AQHI นี้ มีใช้กันแล้วในบางประเทศ  แต่น้ำหนักถ่วงที่ใช้ในการคำนวณนั้นยังไม่ค่อยแม่นยำ  แต่ก็ยังดีกว่าการแสดงผลแบบ AQI เดิมๆ 

ถ้าคพ. กำลังดำริที่จะกำหนดค่า PM2.5 ในการคำนวณ AQI  เราจึงอยากจะขอเสนอแนะให้กำหนดเป็น AQHI ไปเสียเลยทีเดียวน่าจะดีกว่า เพราะไม่ต้องทำงานซ้ำสอง  

ส่วนเรื่องที่ว่า หากค่า PM2.5 เกิน หรือ สารมลพิษ C เกิน หรือ AQI เกิน หรือ AQHI เกินแล้วจะทำเช่นไรต่อ โดยใคร ด้วยงบของใคร คงไม่มีปัญญาหาคำตอบได้เบ็ดเสร็จ คงต้องช่วยกันคิด

โดย...

รศ.ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล

ศ.ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

FB page: Thailand network center on Air Quality Management (TAQM)

[email protected]