เศรษฐกิจสหรัฐ เอาที่ไหนมาโต

เศรษฐกิจสหรัฐ  เอาที่ไหนมาโต

เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อเนื่องถึง 103 เดือนถึงสิ้นปี 2017 และอัตราการว่างงานก็ลดลงต่อเนื่องในช่วงเดียวกันตั้งแต่ 10% เรื่อยลงมาจนถึง 1.4%

ผู้คนโดยทั่วไปทราบดีว่าวิกฤติการเงินสหรัฐในช่วงปี 2007-2009 มีความรุนแรงมากจนแทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้เร็ว และในอัตราสูงขนาดนี้ในระหว่าง 1.5-3.0% ต่อปี หรือโดยเฉลี่ยปีละ 2.1% ต่อปี ในช่วงปี 2010-2016 

การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ถือว่ามีระยะเวลายาวเป็นที่ 3 ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐ  แต่คาดว่าน่าจะทำลายสถิติสูงสุด 120 เดือนของช่วงระหว่างปี 1991-2001 ได้ไม่ยาก

ผู้คนไม่มากในวงการเศรษฐกิจของสหรัฐ กล่าวถึงที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว แต่ผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบ หรือทราบที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างผิดๆ โดยเฉพาะบทความในสื่อมวลชนทางเศรษฐกิจระดับโลก

ตัวอย่างเช่น Investopia ได้ยกเอา 5 ภาคเศรษฐกิจที่ระบุว่าเป็นที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังนี้ คือ พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การแพทย์/สาธารณสุข และการเกษตร  

ข้อเสียของสื่อมวลชนพวกนี้คือ การวิจารณ์ตามความรู้สึกขณะใดขณะหนึ่งมากกว่าจะพิจารณาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลเป็นส่วนใหญ่ในช่วงระยะเวลาที่พิจารณา

เมื่อดูสถิติของ U.S. Bureau of Economic Analysis ตลอดช่วงระยะระหว่างปี 2010-2016 จะพบว่า ภาคเศรษฐกิจที่สามารถทำอัตราการขยายตัวตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวสูงกว่าจีดีพีโดยรวม จะได้แก่ 1) สื่อทางอินเทอร์เน็ต 31.1% 2) วิชาชีพทางวิทยาศาสตร์​ 24.6% 3) การแสดง กีฬา สวนสนุก การพนันและบันเทิงอื่นๆ 20.9% 4) พลังงาน/เหมืองแร่ 17.6% 

เมื่อเทียบกับจีดีพีช่วงเดียวกันที่ขยายตัว 15.9% จะเห็นได้ว่าภาคเศรษฐกิจที่ Investopia ยกมามีที่ถูกต้องเพียงตัวเดียวและเป็นตัวที่สำคัญน้อยที่สุด

ผู้คนทั่วไปคงจะได้ยินจากสื่อมวลชนจนคุ้นแล้วว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐมีความได้เปรียบลดลง แข่งขันไม่ได้ ทำให้ขาดดุลการค้ามาก เรื่องนี้คงเป็นความจริงตามตัวเลขทางสถิติที่การผลิตทางอุตสาหกรรมมีสัดส่วนจากจีดีพีลดลงจาก 27% เหลือเพียง 12% ในระหว่างกว่า 60 ปีที่ผ่านมา 

แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็สามารถสร้างภาคเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มแก่จีดีพีหลายอย่างด้วยกัน คือ ภาคการเงิน/อสังหาริมทรัพย์ เพิ่มจาก 11% เป็น 21%วิชาชีพทางวิทยาศาสตร์เพิ่มจาก 4% เป็น 12% และ ภาคการแสดง/บันเทิงเพิ่มจาก 3% เป็น 7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งหมดนี้แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐมี resilience ในการปรับเปลี่ยนการผลิตต่อการเปลี่ยนแปลงในขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นอย่างดี

ขีดความสามารถการแข่งขันของการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ด้อยลง อาจจะเป็นผลให้สหรัฐขาดดุลการค้า/ดุลบัญชีเดินสะพัดก็จริง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่สหรัฐต้องกังวล เพราะว่าการค้าที่ขาดดุลมีขนาดเพียง 3% ของจีดีพีเท่านั้น ในขณะที่ดุลการค้าของไทยมีขนาดถึง 15% ของจีดีพี 

การขาดดุลการค้าทำให้สหรัฐมีเงินดอลลาร์ไหลออกไปประมาณ​ 500 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐายังมีเงินไหลออกเนื่องจากการขาดดุลเงินทุนด้วยอีก 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าเงินดอลลาร์เป็นเงินที่ยอมรับทั่วโลก สหรัฐเพียงแต่สร้างเงินขึ้นมาเท่าที่ต้องการ จะเพื่อการค้าหรือเงินทุนที่ขาดดุลก็ได้

บรรดาอาชีพที่มีอัตราการเพิ่มของการจ้างงานเร็วที่สุด 30 อันดับแรก มีอัตราการเพิ่มในระหว่าง 20-30% จำนวน 2 อาชีพ 30-50% จำนวน 7 อาชีพ และ มากกว่า 50% อีก 2 อาชีพ 

ถ้าจะจำแนกตามภาคเศรษฐกิจแล้ว สายการแพทย์/สาธารณสุขมีมากที่สุด 16 อาชีพ สายวิทยาศาสตร์ 6 อาชีพ สายเหมืองแร่ 4 อาชีพ สายสารสนเทศ 2 อาชีพ เบ็ดเตล็ด 2 อาชีพ 

 การแพทย์/สาธารณสุขอาจไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนทางจีดีพีสูง แต่น่าจะเป็นภาคที่มีความสำคัญในอนาคต เมื่อพิจารณาจากสังคมที่สูงอายุมากขึ้นและภาคนี้มีจำนวนการจ้างงานที่สูงมากถึง 7 ล้านคน

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความสามารถในการปรับตัว จากภาคเศรษฐกิจที่ขีดความสามารถการแข่งขันลดลง ไปสู่ภาคเศรษฐกิจอย่าง สารสนเทศ​ การเงิน/อสังหาริมทรัพย์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์/สาธารณสุข  และ การแสดง/บันเทิง ที่ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่าภาคเศรษฐกิจนั้น ๆ จะสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศหรือไม่ ด้วยการสร้างเงินดอลลาร์ที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือสินทรัพย์ทางการเงินก็ได้