IoT ฝูงผึ้ง เชื่อมทุกสรรพสิ่ง

IoT ฝูงผึ้ง เชื่อมทุกสรรพสิ่ง

ถ้าเราเห็นคนคุยกับสิ่งไม่มีชีวิต เช่น หลอดไฟ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ก็อย่ามองว่าเขาบ้าหรือเพี้ยนเป็นอันขาด

 เพราะช่วงหลายเดือนนี้ได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลากหลาย Smart Business รวมถึงพาผู้ที่สนใจทั้งที่เป็นผู้บริหารและผู้ประกอบการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อการบริหารงานทางธุรกิจ สิ่งที่รู้สึกและรับรู้ได้ก็คือ มีองค์กรตัวอย่างที่บริหารจัดการและดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น

องค์กรเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งจะลงทุนทำ แต่ได้ดำเนินการมานับเป็นปีแล้ว ซึ่งอันนี้ต้องชื่นชมในวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และความมุ่งมั่นตั้งใจของพนักงานที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการที่จะพัฒนาทั้งตัวเองและองค์กรโดยรวม ให้ทันกับการแข่งขันทางธุรกิจ

ในขณะเดียวกันก็มีผู้จัดการ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานสัมมนาและศึกษาดูงานองค์กรต้นแบบจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าองค์กรเหล่านี้จะยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านองค์กรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ตาม แต่ความตื่นตัวและแสดงออกอย่างชัดเจนในการแสวงหาความรู้ เป็นสิ่งบ่งชี้ได้อย่างดีว่า อีกไม่นานองค์กรเหล่านี้ก็จะขยับปรับตัวเองให้มีระบบธุรกิจและระบบงานที่ทันสมัยและมีการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างน้อยก็สามารถจะอยู่รอดปลอดภัยในบริบทการแข่งขันยุคใหม่นี้

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน และสามารถส่งข้อมูลสื่อสารโต้ตอบกันได้ นอกจากช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดเวลา และต้นทุนโดยรวมแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ต่างๆที่คาดหวังได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity Improvement หลังจากนี้ จะไม่ใช่แค่การปรับปรุงงาน ลดความสูญเสียเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยเทคนิคและวิธีการแบบที่เราทำกันมาในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น หากแต่ต้องเติมเสริมด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย และใช้ข้อมูลที่มีจำนวนมากมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำว่า Digital Productivity หรือ Technology Led Productivity จึงเริ่มพบมากขึ้นในบทความและกรณีตัวอย่างจากระบบการค้นหา (Search engine) ในอินเทอร์เน็ต

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่ร่วมกันและประสานสัมพันธ์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และพัฒนาสิ่งรอบตัวจนมีความก้าวหน้าทันสมัยเช่นในทุกวันนี้ เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งสิ้น ในอดีตอาจจะต้องรอนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิจัยตีพิมพ์หนังสือ บทความทางวารสาร หรือเผยแพร่ผลงานผ่านการบรรยายในงานสัมมนาต่างๆ หากแต่ทุกวันนี้ทุกคนสามารถบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และความรู้ในแง่มุมต่างๆของตนเองเข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ต พื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงขยายตัวและกว้างขวางมากขึ้น ห้องเรียนขนาดใหญ่และไร้ข้อจำกัดเรื่องระยะทางและเวลา คงหนีไม่พ้นเว็บไซต์ต่างๆ สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook Twitter YouTube และ App อื่นๆอีกมากมาย

อุปกรณ์ที่ทำให้เราเชื่อมต่อถึงกันและแบ่งปันสิ่งต่างๆกันได้ง่ายและสะดวกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาจจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop) จนถึงตั้งวางบนตัก (Laptop) แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้มีกันทุกคน จนกระทั่งมี Smart phone ที่แพร่หลายและมีกันเกือบทุกคน นอกจากความสามารถประหนึ่งคอมพิวเตอร์พกพาแล้ว มันยังทำหน้าที่เป็น IoT device ของคนด้วย นอกจากนั้น IoT กำลังเชื่อมสิ่งมีชีวิต สัตว์ และพืช รวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตที่เป็นสิ่งของต่างๆ อาทิ เครื่องจักร สภาพแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพราะสิ่งต่างๆในโลกใบนี้มีข้อมูล และเราต้องการข้อมูลของทุกสิ่งในโลกนี้ ไม่ใช่แค่สถานะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น หากแต่ต้องการเก็บเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง (Time series) เพื่อนำมาประมวลผลและใช้ประโยชน์ตามความต้องการต่อไป

ดังนั้น IoT ก็คงเหมือนกับมดงาน หรือผึ้ง ที่ออกไปหาอาหารในที่ต่างๆ และนำกลับมาสะสมไว้ในรัง ถ้าอาหารและสิ่งต่างๆที่พวกมันขนมาคือ “ข้อมูล” รังของพวกมันก็คงเปรียบได้กับ “คลาวด์” แน่นอนในธรรมชาติเราอาจไม่รู้ว่า รังมด รังผึ้ง อยู่ที่ไหนบ้าง ยกเว้นว่าเราติตตามมันไป แต่ในฟาร์มเลี้ยงผึ้ง เจ้าของฟาร์มได้สร้างรังผึ้งเทียม เสมือน Cloud ขึ้นมา เพื่อนำน้ำผึ้งไปแปรรูปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ

องค์ประกอบที่สำคัญของ IoT Device คงหนีไม่พ้นเซนเซอร์ (Sensor) ที่ทำหน้าที่เปลี่ยน physical data ให้กลายเป็น Digital data อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็ว ความเป็นกรดด่าง ปริมาณก๊าซชนิดต่างๆ ค่าทางไฟฟ้า (กระแสไฟ แรงดันไฟ) พิกัดระบุตำแหน่ง และอื่นๆอีกมากมาย โดยทำงานร่วมกับอีกองค์ประกอบหนึ่งซึ่งไม่มีก็คงเป็น IoT ที่สมบูรณ์ไม่ได้ก็คือการเชื่อมต่อสัญญาณ ไม่ว่าจะผ่านBluetooth WiFi ซิมโทรศัพท์ และช่องทางอื่นใดก็ตาม เพื่อนำข้อมูลจากจุดต่างๆเข้ามาสู่ศูนย์ข้อมูล ให้นักวิเคราะห์นำไปประมวลผลตามสูตร สมการต่างๆที่สร้างไว้ (Data modeling)

IoT ที่ฝังตัวอยู่ในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ในบ้านอย่าง ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ในสำนักงาน เช่น เครื่องสแกนเนอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร ยานพาหนะ ในโรงงาน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือวัด คลังสินค้า สินค้าในกระบวนการผลิต ชิ้นส่วน ในโรงพยาบาล เช่น แทครัดข้อมือผู้ป่วย รถเข็น เตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งต่างๆรอบตัวเราเหล่านี้จะสามารถสื่อสารโต้ตอบกับเราได้ประหนึ่งสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจะกล่าวว่า IoT ได้ทำให้สิ่งไม่มีชีวิตกลายเป็นสิ่งที่มีชีวิต ที่สามารถสื่อสารสัมพันธ์กันได้ก็คงจะไม่แปลก เมื่อเครื่องจักรคุยกับเครื่องจักร หุ่นยนต์ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนได้ การขึ้นทะเบียนหุ่นยนต์ตลอดจนการครอบครองหุ่นยนต์ คงต้องขึ้นทะเบียนเหมือนการแจ้งเกิดของเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบัน โลกยุคหน้าอาจจะไม่ได้มีแค่สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมว แต่หุ่นยนต์จะกลายเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว