นวัตกรรม XIV กับการ Sell-Off ครั้งใหญ่

นวัตกรรม XIV กับการ Sell-Off ครั้งใหญ่

นวัตกรรม XIV กับการ Sell-Off ครั้งใหญ่

เราได้เห็นเหตุการณ์การ Sell-Off ครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นอเมริกาในคืนวันจันทร์ที่ 5 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงแรงภายในวันสูงสุดในรอบ 6 ปี ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลงระหว่างวันเกือบ 1,600 จุด หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราเริ่มเห็นสื่อทางการเงินต่างประเทศได้ทำการวิเคราะห์กันว่า หน่วยลงทุนที่เรียกว่า XIV นั้นเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงกว่าที่ควรจะเป็น และยังลามไปถึงการ Sell-Off ที่ตามมาอย่างรุนแรงของกองทุนบางประเภทที่ใช้กลยุทธ์การเทรดแบบ Systematic Trading

การตั้งชื่อหน่วยลงทุนนี้ว่า XIV เข้าใจว่าผู้ออกหน่วยลงทุนน่าจะพยายามสื่อให้เข้าใจง่ายๆว่าหน่วยลงทุนอันนี้เกี่ยวข้องกับดัชนี VIX หรือที่นักลงทุนบางท่านเรียกว่าดัชนีสะท้อนความกลัว เป็นดัชนีที่คำนวณมาจากราคาซื้อขายออปชั่นบนดัชนี S&P500 ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก และสรุปมาเป็นดัชนีให้เราดูง่ายๆกัน ตลอดปีที่ผ่านมาค่าดัชนี VIX นั้นถือว่าต่ำมากๆเป็นประวัติการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 จุด ยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาปรับตัวขึ้นติดๆกัน ค่า VIX ปรับตัวลงไปอีก ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองที่เป็นบวกมากๆจากนักลงทุน

สภาวะตลาดข้างต้นนี้ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมาทำให้ดัชนี VIX อยู่ในแนวโน้มแกว่งตัวขาลงมาตลอด หน่วยลงทุน XIV ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกองทุนที่สามารถซื้อขายบนกระดานหุ้น NASDAQ โดยเบื้องหลังการลงทุนของหน่วยลงทุนนี้จะเป็นการ Short สัญญาฟิวเจอร์สอายุสั้นที่อ้างอิงกับดัชนี VIX ทำให้ในปี 2560 หน่วยลงทุนนี้สามารถทำกำไรได้อย่างมากถึง 167% และทำให้หน่วยลงทุนนี้ได้รับความนิยมอย่างมากสามารถระดมทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนมีขนาดใหญ่ประมาณ 1.6พันล้านเหรียญสหรัฐ (ณ วันที่ 2 ก.พ. 2561) ดูจากข้อมูลตรงนี้จะเห็นได้ว่านักลงทุนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจากความกลัวความกังวลที่หายไปของตลาดหุ้น ซึ่งจริงๆแล้วไม่เคยเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะไม่ว่ายังไงตลาดหุ้นก็ต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ Sell-Off ในวันจันทร์ที่ 5 ก.พ. ตลาดเริ่มมีความกังวลเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นอเมริกาเริ่มปรับตัวลง ความกังวลที่เริ่มเข้ามาทีละน้อยทำให้ดัชนีค่า VIX ปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วจากประมาณ 10 ขึ้นไปที่ 17 จุดในวันที่ 2 ก.พ. จนกระทั่งวันที่ 5 ก.พ. ความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ค่า VIX ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในรอบหลายปี มีผลให้มูลค่าราคาหน่วยลงทุน XIV ปรับตัวลงอย่างรุนแรงจากสถานะคงค้าง Short สัญญาฟิวเจอร์ส VIX ไว้ในปริมาณมาก สิ่งแรกที่ตามมาคือนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนนี้ได้ทำการขายหน่วยลงทุนนี้คืนออกมาอย่างรุนแรงโดยดูจากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่รับผิดชอบหรือผู้จัดการการลงทุนจำเป็นต้องทำการปิดสถานะ Short ที่คงค้างไว้ด้วยปริมาณที่สูงมาก การซื้อสัญญาฟิวเจอร์สคืนตรงนี้อาจมีผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับค่าดัชนี VIX ให้ปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ สภาวะ Panic ก็อาจทำให้มีการ Sell-Off หน่วยลงทุนอันนี้ออกมากอีก โดยในวันนั้นดัชนี VIX ขึ้นไปสูงสุดที่ 50 จุด และมูลค่าของหน่วยลงทุน XIV นั้นลดลงมามากว่า 90% ภายในวันเดียว

สิ่งที่ตามมาอันที่ 2 คือการ Sell-Off ของหุ้นในตลาดอเมริกาจากกองทุนขนาดใหญ่หลายรายที่ใช้การตัดสินใจการลงทุนแบบเป็นระบบ (Systematic Trading) เพราะกองทุนประเภทนี้มักมีการใช้ค่าดัชนี VIX เข้าไปในโมเดลการคำนวณถึงความเสี่ยงของตลาด ยิ่งเสี่ยงมากก็จะยิ่งลดพอร์ตการลงทุนหุ้น และยิ่งค่า VIX ทำจุดสูงสุดขนาดนี้ การลดพอร์ตการลงทุนยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก สไตล์การลงทุนนี้มีหลายชนิด แต่ชนิดที่อาจเห็นในสื่อต่างประเทศกันเยอะๆช่วงนี้จะเรียกว่า Volatility Targeting โดยจะมีสูตรคณิตศาสตร์คำนวณไว้อย่างชัดเจนว่าถ้าค่า VIX ปรับตัวถึงเป้าระบบจะทำการลดพอร์ตการลงทุนเกือบทั้งหมดที่มี

ถ้าการประเมินคร่าวๆจากที่ผมกล่าวมาเป็นจริง จะเห็นว่านวัตกรรมการลงทุนที่ซับซ้อนขึ้นตรงนี้ และการพึ่งพาการตัดสินใจลงทุนเชิงระบบรวมทั้งการซื้อขายด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถึงแม้จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในบางช่วง แต่ก็สามารถทำให้นักลงทุนขาดทุนได้มากเหมือนกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าการลงทุนใดๆก็ตามจะซับซ้อนแค่ไหน จะมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีเพียงใด สุดท้ายการลงทุนใดๆก็มีความเสี่ยงเสมอ