วันนั้นเมื่อวุฒิบัตรเอกชน มีค่ากว่าปริญญามหาวิทยาลัย

วันนั้นเมื่อวุฒิบัตรเอกชน มีค่ากว่าปริญญามหาวิทยาลัย

วันก่อน ผมตั้งวงเสวนากับนักการศึกษาระดับชาติหลายท่านว่าด้วยอนาคตของการศึกษาไทย

 สรุปได้ว่า ทุกท่านเห็นตรงกันว่า ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับไม่เปลี่ยนให้ตรงกับโลกดิจิทัลก็เตรียมตัวหมดสภาพได้

การศึกษาไม่ได้ล่มสลาย แต่กลไกและองค์กรของการเรียนการสอนนั่นแหละ ที่จะเผชิญกับการคุกคามที่หนักหน่วงจนอาจจะตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้

ระหว่างคุยกันก็มีข้อมูลจากผู้รู้ว่านายซัลมัน ข่าน ที่มีส่วนปฏิรูปการเรียนการสอนด้วยอินเทอร์เน็ต ได้ออกมาทำนายว่าการศึกษาในอนาคตจะมีแนวโน้มยกให้ “ผู้เรียนเป็นตัวตั้ง”  เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิด platform การศึกษาทางเลือกมากมาย ใครอยากเรียนวิชาอะไรก็เรียนได้หมด

วันนั้นเมื่อวุฒิบัตรเอกชน มีค่ากว่าปริญญามหาวิทยาลัย

Google เพิ่งประกาศหลักสูตร Google IT Support Professional Certificate ที่มีแนวทางชัดเจนว่า คนเรียนไม่ต้องมีพื้นฐานใด ๆ มาก่อนก็เรียนได้ และจะออกใบรับรองให้ สามารถนำไปสมัครงานที่ไหนก็ได้

แปลว่าอีกหน่อยใบรับรองจากกูเกิลอาจจะมีความหมายมากกว่าใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยกระแสหลักธรรมดาก็ได้

เพราะใบรับรองกูเกิลระบุว่าผ่านการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญสาขาไหนมา แต่ใบปริญญาของสถาบันการศึกษาดั้งเดิมไม่อาจจะบอกว่าคนเรียนจบสี่ปีทำอะไรเป็นหรือไม่อย่างไร

ซัลมัน ข่านพยากรณ์ด้วยว่าอีกไม่ช้าไม่เพียงแต่ Google เท่านั้นแต่องค์กรเอกชนในภาคธุรกิจก็อาจจะออกวุฒิบัตรเองได้ และอาจจะใช้แทนปริญญาบัตรได้หมดเลย

เขาให้เหตุผลว่ารูปแบบการศึกษาแบบดั้งเดิมเน้นปริมาณ คือเรียนชั่วโมงเยอะ ๆ เรียนหลาย ๆ แขนง เน้นผลการสอบ แต่ไม่ได้ยืนยันว่านักเรียนมีประสบการณ์จริงหรือมีวิธีคิดที่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่

ด้วยเหตุผลนี้ บริษัทต่าง ๆ ต้องใช้วิธีทดสอบและวัดผลของผู้สมัครเองอีกรอบหนึ่งเพื่อประเมินความสามารถที่แท้จริง เพราะดูจากใบปริญญาหรือ transcripts ที่สถาบันการศึกษาออกมาให้แล้วก็ไม่มีอะไรบอกชัดว่าคนคนนั้นสามารถทำงานอะไรได้หรือไม่อย่างไร

ซัลมัน ข่านทำนายว่าอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทเอกชนที่สามารถสร้างมาตรฐานของตนเองอาจจะกลายเป็น “สถาบันการศึกษา” เอง นั่นคือ สร้างหลักสูตรเองและออกวุฒิบัตรเอง และสามารถจะผลิตผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเอง

เหตุผลก็ชัดเจนว่าบริษัทที่มีวิธีการทำงานและการอบรมของตนเองอาจจะสร้างคนมีคุณภาพมากกว่ามหาวิทยาลัย

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคนนี้พยากรณ์ด้วยว่าแต่ละคนอาจจะออกแบบการเรียนของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีรวดแล้วจึงหางานทำ แต่อาจจะทำงานคู่ไปกับการเรียนวิชาเฉพาะทางที่สนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาด

ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนสามารถกำหนด career path ของตัวเองตามความถนัด ความชอบ และความต้องการของตลาดได้อย่างคล่องตัวกว่าเดิม

ซัลมัน อะมิน ข่าน (Salman Amin Khan) เป็นนักการศึกษาสัญชาติอเมริกัน เชื้อชาติบังกลาเทศ เรียนจบปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์จาก MIT และปริญญาโท MBA จากฮาร์วาร์ด

ข่านเริ่มสอนทำการบ้านให้หลานสาวตัวเอง ต่อมาพัฒนาเป็นเว็บไซต์สอนทุกวิชาฟรีให้กับทุกคน ได้รับการสนับสนุนจากบิล เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟท์ จนกลายเป็นธุรกิจการศึกษาสมัยใหม่เต็มตัว อีกทั้งยังเปิดโรงเรียน offline ที่ชื่อ Khan Lab School ด้วย

ทุกวันนี้เขาได้ผลิตวีดีโอสอนหนังสือฟรีให้กับคนทั้งโลกกว่า 65,000 บทเรียนในทุกวิชา และ ณ เดือน ธ..ปี 2016 Khan Academy บนยูทูปมีสมาชิกถึง 3.6 ล้านคน โดยมีสถิติของคนที่ได้ดูวีดีโอสอนหนังสือทั้งหมดกว่า 1 พันล้านครั้ง