ความเหมือนและความต่าง ระหว่างอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา กับไทย

ความเหมือนและความต่าง ระหว่างอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา กับไทย

ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา อาร์เจนตินามักถูกยกขึ้นมา เมื่อพูดถึงนโยบายประชานิยม ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2544 เริ่มนำเข้ามาใช้ในเมืองไทย

ทันทีที่ผมเห็นนโยบายแบบเลวร้ายนั้น ผมเร่งเขียนหนังสือชื่อ “ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?” พิมพ์โดยเนชั่นบุ๊คส์ เพื่อเตือนคนไทยถึงอันตรายของมัน

อีกหลายปีต่อมา เมื่อเวเนซุเอลาเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายอีกครั้ง ผมได้ปรับปรุงหนังสือและพิมพ์ออกมาชื่อ “ประชานิยม : ทางสู่ความหายนะ”(หนังสือ 2 เล่มนี้ไม่มีขาย ผู้ใดมีความประสงค์จะนำไปพิมพ์เป็นวิทยาทานอาจทำได้)

นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายถูกนำเข้าไปใช้ในอาร์เจนตินา โดยรัฐบาลที่ต้องการชนะการเลือกตั้งปี 2459  

หลังจากนั้น ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเพราะอ้างว่าประชานิยมจะสร้างความเสียหายร้ายแรง ต่างขยายนโยบายเลวร้ายนั้นอย่างต่อเนื่อง

ทุกรัฐบาลทำเช่นนั้น เพราะต้องอาศัยการสนับสนุนของชาวอาร์เจนตินา ซึ่งเสพติดประชานิยมอย่างรวดเร็ว 

ย้อนไปในสมัยโน้น อาร์เจนตินาร่ำรวยมากจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก ความร่ำรวยนั้นแสดงออกมาทางการเงิน ในรูปของเงินสำรองกองมหึมาคิดเป็นสัดส่วนได้ถึง 70% ของเงินสำรองของประเทศลาตินอเมริกาทั้งหมด 

เงินสำรองนี้สนับสนุนนโยบายเลวร้ายได้ระยะหนึ่ง เมื่อเงินสำรองหมด อาร์เจนตินาหาทางออกด้วยการกู้จากต่างประเทศ เมื่อกู้จนไม่มีใครให้กู้อีกก็หันมาปิดงบประมาณด้วยการพิมพ์ธนบัตรแบบไม่อั้น 

กระบวนการประชานิยมแบบเลวร้ายดำเนินไป 40 ปีก่อนที่อาร์เจนตินาจะล้มละลาย ส่งผลให้ล้มลุกคลุกคลาน และได้รัฐบาลทหารที่เข่นฆ่าประชาชน

การใช้นโยบายประชานิยมในเวเนซุเอลาไม่มีแรงจูงใจในด้านการเอาชนะการเลือกตั้ง และจุดเริ่มต้นแน่นอนเช่นเดียวกับในอาร์เจนตินา ฉะนั้น เวลาจากวันเริ่มใช้ถึงวันล้มละลายครั้งแรกเมื่อปี 2527 จึงคำนวนไม่ได้  

แรงจูงใจสำคัญได้แก่ความย่ามใจของรัฐบาล อันเกิดจากการมีรายได้มหาศาลจากการขายน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเวเนซุเอลาเคยส่งออกมากที่สุดในโลก 

ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลทหารของเวเนซุเอลา มิได้เก็บรายได้มหาศาลนั้นไว้ในรูปของเงินสำรองกองใหญ่ หากใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย ทั้งในการลงทุนแบบขาดความรู้ ความเข้าใจ และการแจกจ่ายให้ประชาชนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น ชาวเวเนซุเอลาสามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาแบบแทบได้เปล่า

เมื่อรายได้มหาศาลนั้นไม่พอ เวเนซุเอลาก็กู้จากต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความล้มละลายหลายครั้ง จนกระทั่งขณะนี้ประชาชนมีความอดอยากอย่างแพร่หลาย

มองจากเรื่องของ 2 ประเทศนั้น นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายในไทย มีแรงจูงใจ และจุดเริ่มต้นแน่นอน เช่นเดียวกับในอาร์เจนตินา และมีส่วนคล้ายกับใน 2 ประเทศดังกล่าว ในแง่ที่ทั้งรัฐบาลทหาร และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่างขยายนโยบายออกไป แม้จะมิได้คงชื่อโครงการเดิมไว้ในหลายๆ กรณีก็ตาม 

เนื้อหาส่วนแรกของโครงการใหม่ชื่อไทยนิยม มองได้ว่ามีลักษณะของประชานิยม  

ความแตกต่างที่สำคัญคือรัฐบาลปัจจุบันของไทยยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลก่อน โครงการนี้จะมีความเลวร้ายทั้งในด้านการทำลายวินัยการเงินการคลัง ฐานทางด้านเศรษฐกิจ และจิตวิญญาณของสังคมไทย หากรัฐบาลต่อไปรื้อฟื้นขึ้นมาอีก

หลังจากเวลาผ่านมา 17 ปี ประชานิยมแบบเลวร้ายในเมืองไทยที่มีความคล้ายกับของอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาได้แก่ การเสพติดของประชาชน อย่างรวดเร็ว

การเสพติดนี้มีผลให้รัฐบาลไม่กล้ายกเลิกนโยบายในแนวนั้นทั้งหมด ตรงข้าม มักนำจำนวนมากมาต่อเติม

นอกจากนั้น โครงการทั้งหลายในกรอบของนโยบายนี้มักนำไปสู่ความฉ้อฉลในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเสมือนการตอกย้ำความอ่อนแอทางสังคมของทั้ 3 ประเทศ  

ทางด้านความแตกต่าง ข้อสำคัญได้แก่เมืองไทยยังไม่ยอมให้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายทำลายวินัยการเงินการคลังเช่นเดียวกับดังที่เกิดขี้นใน 2 ประเทศดังกล่าว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้รัฐบาลเพิ่มภาระหนี้สินขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไทยเพิ่งใช้นโยบายเลวร้ายนี้มาเพียง 17 ปีเท่านั้น

ด้วยเหตุดังกล่าว เรายังอาจมองในแง่ดีได้ว่า ถ้ารัฐบาลนี้ และรัฐบาลต่อๆ ไปไม่เพิ่มความเข้มข้นของนโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย จนถึงกับทำลายวินัยการเงินการคลัง เมืองไทยอาจไม่ล้มละลายในแนวเดียวกับอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา 

 แต่อย่าเผลอ