ทำไมเงินเฟ้อทำให้หุ้นตก

ทำไมเงินเฟ้อทำให้หุ้นตก

ทำไมเงินเฟ้อทำให้หุ้นตก

ตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนหนัก เริ่มต้นที่ฝั่งสหรัฐฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมกราคมที่ออกมาดีที่ 200,000 ตำแหน่งจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 180,000 ตำแหน่ง รวมถึงการเติบโตของค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยที่พุ่งขึ้นถึง 2.9% จากปีที่แล้ว ตลาดจึงมองว่าค่าจ้างที่สูงขึ้น จะทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้นแรง กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ทั้งหมดถูกหยิบยกเป็นเหตุผลในการเทขายหุ้น ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับลงกว่า 2% ในวันเดียว ขณะที่ดัชนีความผันผวนของหุ้นสหรัฐฯ หรือ VIX ทะยานขึ้นแตะระดับ 35 ซึ่งจุดชนวนแรงเทขายอีกระลอกจากระบบซื้อขายอัตโนมัติ หรือ Robot Trading ซึ่งจะประมวลผลและตัดสินใจตามเงื่อนไขที่ระบบกำหนดไว้ โดยเมื่อถึงจุดซื้อหรือขาย ระบบจะส่งคำสั่งโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ทำให้กดดันราคาหุ้นมากขึ้นไปอีก โดยรวมในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ดัชนี S&P500 ปรับลงถึง 7% ขณะที่ตลาดที่ได้รับผลกระทบแรงสุด คือตลาดหุ้นจีน โดยดัชนี HSCEI ปรับลงแรงกว่า 11% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยถือว่าปรับลงน้อยกว่าภูมิภาคอื่นที่ 3% เนื่องจากต่างชาติถือหุ้นไทยน้อยและบางส่วนขายทำกำไรไปแล้ว

แม้วิกฤติครั้งก่อนๆ มักเกิดขึ้นภายหลังช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อสูง แต่เงินเฟ้อไหนที่ควรกังวล โดยปกติ หากเงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อยคือไม่เกิน 3% จะถือดีต่อเศรษฐกิจ เพราะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคการผลิตขยายตัวและการจ้างงานเพิ่มขึ้น หากเงินเฟ้อสูงขึ้นมากจะเกิดภาวะ Hyperinflation และผลเสียต่อเศรษฐกิจ เพราะราคาสินค้าแพงขึ้นรวดเร็ว เงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง การบริโภคซบเซา ผู้ผลิตขาดทุน ซึ่งไม่ใช่สภาวการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด

ความผันผวนของตลาดครั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายท่าน เรียกมันว่า “Healthy Correction” เพราะตลาดที่ขึ้นมาระดับหนึ่ง จะขึ้นต่อได้อย่างมีเสถียรภาพต้องมีการขายทำกำไรระหว่างทางบ้าง การพักหรือปรับฐานเพื่อขึ้นต่อจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และชัดเจนว่าเรายังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession เพราะเศรษฐกิจในหลายประเทศอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำ ธนาคารกลางพยายามผลักดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจยังเติบโตดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรม IT นอกจากนี้ Credit spread หรืออัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มของหุ้นกู้เอกชนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และเส้นโค้งความชันของพันธบัตรสหรัฐฯ ก็เริ่มมีความชันเพิ่มขึ้นหลังทำจุดต่ำสุดไปในช่วงปลายปี 2560

ล่าสุดตลาดคลายความกังวลลง แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index, CPI) ประจำเดือนมกราคมที่เพิ่งประกาศจะออกมาสูงถึง 2.1% เหนือกว่าคาดที่ 1.9% แต่มีผลให้ตลาดกระตุกเพียงเล็กน้อยก่อนกลับมาปิดบวก นอกจากนี้ หากพิจารณาดัชนีวัดเงินเฟ้ออีกตัว คือดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures, PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ FED ใช้ในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเน้นคำนวณจากการสำรวจยอดค้าปลีกภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงกำหนดน้ำหนักสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมการบริโภค ต่างจาก CPI ที่คำนวณจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าจากมุมมองของผู้บริโภค โดย PCE ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ 2% อยู่ ผลคือดัชนีความผันผวนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลงมาที่ระดับ 19 หมายถึงความผันผวนของตลาดในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มเบาบางลง ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากนักลงทุนกลับมาให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังดูดีอยู่ ย้ำภาพ Healthy Correction ได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองว่าปี 2561 นี้จะมีความผันผวนที่สูงขึ้น รวมถึงมีการปรับฐานเป็นระยะๆ นักลงทุนจึงควรระมัดระวังการลงทุนของท่าน โดนหนทางหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การเข้าลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar-Cost Averaging ซึ่งเป็นการทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ด้วยจำนวนเงินครั้งละเท่าๆ กัน แต่ความถี่จะบ่อยแค่ไหนแล้วแต่ความต้องการของนักลงทุน ทั้งนี้การถัวเฉลี่ยต้นทุนจะช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงลง และหลีกเลี่ยงการเข้าซื้อในจุดที่ราคาสูงภายในครั้งเดียว รวมถึงเป็นการสร้างวินัยการลงทุน ไม่ตื่นตระหนกกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้นอีกด้วย