ดิจิทัลในจีนเบ่งบานต้อนรับปีใหม่

ดิจิทัลในจีนเบ่งบานต้อนรับปีใหม่

รายงานจากการประชุม World Internet Conference (WIC) ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นที่เมืองอูเจิ้นของจีน เมื่อเดือน ธ.ค.2017

ระบุว่าในปี 2016 มูลค่าดิจิทัลอีโคโนมี (Digital Economy) ของจีนอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 30.3% ของจีดีพี 

สอดคล้องกับคำบรรยายของ หม่า ฮั่วเถิง หรือโพนี่ หม่า (Pony Ma) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท Tencent เจ้าของโซเชียลมีเดีย WeChat Messaging App ซึ่งล่าสุดในเดือน ม.ค.2018  ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีนที่มีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 44,000 ล้านดอลลาร์ โดย โพนี่ หม่า ได้กล่าวในงาน China International Digital Economy Summit 2017 ว่าตัวเลขดิจิทัล อีโคโนมี ของจีนในปี 2017   น่าจะเติบโตขึ้นอีกและจะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน

รัฐบาลจีนได้จัดว่าชนชั้นกลาง (Middle Class) คือครอบครัว ที่มีรายได้ประมาณปีละ 400,000 บาทต่อครัวเรือนซึ่งมีมากกว่า 145 ล้านคน โดยชนชั้นกลางนับเป็นกลุ่มที่เกิดในยุคเศรษฐกิจใหม่ของจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับเป็นกลุ่มที่มีการศึกษา ติดตามข่าวสาร ชอบท่องเที่ยวและใช้จ่าย และมักให้ความสนใจต่อนโยบายต่างๆ อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม 

ในปี 2015 ชนชั้นกลางได้ใช้จ่ายกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 37% ของจีดีพี รวมถึงการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศถึงปีละ 200,000 ดอลลาร์ จึงนับได้ว่าชนชั้นกลางยุคใหม่ของจีนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล และช่วยให้ดิจิทัลในจีนเติบโตอย่างรวดเร็วจากการใช้นวัตกรรมดิจิทัลและโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน

ดิจิทัลเบ่งบาน

รายงานยังระบุด้วยว่าในปี 2560 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 3,890 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนกว่า 751 ล้านคน โดยจีนถึอเป็นประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงอเมริกาเท่านั้น ด้านที่จีนที่ได้เร่งการพัฒนา ได้แก่ information infrastructure ทั้งในและต่างประเทศ Online Information Technology และ Online Security

KPMG ได้ระบุว่าในปี 2016 มีเงินทุนหลั่งไหลให้สตาร์ทอัพในจีนถึง 31,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ถึง 20% โดยบริษัท BCG ได้ประมาณว่ามูลค่าดิจิทัลอีโคโนมีของจีนจะสูงถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2035 ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 48% และจะมีผลต่อลักษณะงานในอนาคต ซึ่งต้องใช้แรงงานที่มีความชำนาญทางเทคโนโลยีสูงขึ้น บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ของจีน 3 บริษัทอันได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent (หรือกลุ่ม BAT) นับเป็นองค์กรที่ช่วยผลักดันดิจิทัลอีโคโนมี ที่สำคัญของจีนด้วยการอัดฉีดเงินลงทุนกว่า 42% ของการลงทุนในประเทศ

ขณะที่ Baidu เร่งการพัฒนาเรื่องพาหนะไร้คนขับ (AV) และ AI ด้านอาลีบาบา ล่าสุดได้เข้าถือหุ้น 38% ในบริษัท Shiji Retail Information Technology ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data ในกลุ่มโรงแรมและค้าปลีกของตลาดจีน หลังจากที่ได้ขยายฐานไปยังตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์ด้วยการเข้าถือหุ้นของ Sun Art เพื่อเร่งต่อยอดนวัตกรรมการค้าปลีกใหม่ของตน ส่วน Tencent ก็เร่งการเชื่อมต่อ Open Platform ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสนอบริการไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น

Digitization ในชีวิตประจำวัน

สังคมไร้เงินสด (Cashless Payment) ออนไลน์ชอปปิง และ Sharing Economy นับเป็นส่วนความสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวจีน โดยการชำระเงินผ่านโมบายในปี 2016 มีสูงกว่า 790,000 ล้านดอลลาร์สูงเป็น 11 เท่าของอเมริกา อีคอมเมิร์ซ มีบทบาทสำคัญอย่างชัดเจน เช่น การช่วยให้ชีวิตของชาวจีนเกือบหนึ่งแสนคนในมณฑลกุ้ยโจวดีขึ้น ด้วยยอดขายออนไลน์กว่า 22,650 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 หรือเห็นได้จากมูลค่าการชอปปิงผ่านเว็บไซต์ของอาลีบาบา ในวัน Singles Day ปี 2017 ที่เพียงวันเดียวก็สูงกว่า 25,430 ล้านดอลลาร์

Sharing Econony กำลังจะเปลี่ยนการใช้ชีวิตของชาวจีนด้วยเงินสะพัดถึง 500,000 ล้านดอลลาร์และถูกใช้โดยชาวจีนกว่า 600 ล้านคน ในปี 2017 มีจักรยานให้แชร์ใช้ในเซียงไฮ้มากถึง 450,000 คัน โดยสตาร์ทอัพรายใหญ่ได้แก่ Mobike ที่จักรยานให้แชร์ใช้กว่า 10 ล้านคัน และ ofo ที่มีจักรยานให้แชร์ใช้กว่า 20 ล้านคัน ซึ่งทั้งสองบริษัทสามารถระดมทุนได้กว่า 2,000 ล้านดอลลาร์

นวัตกรรม Facial Recognition ซึ่งเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อชี้หรือค้นหาบุคคลได้ถูกต้องจากระบบฐานข้อมูลรูปภาพ กำลังถูกนำมาใช้งานกว้างขวางมากขึ้นในจีนโดยตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อใช้หาผู้ต้องสงสัยหรือผู้ก่อการร้ายจากฝูงชน ด้วยการคำนวณและนวัตกรรมที่ซับซ้อนขึ้น Facial Recognition ได้ถูกนำมาใช้ในธุรกิจธนาคาร ค้าปลีกและการเดินทาง เช่น แอพพลิเคขั่น “Smile to Pay” ของแอนท์ไฟแนนเชี่ยล ที่ถูกนำมาใช้กับร้านฟาสต์ฟู้ด KFC

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สถานีรถไฟของเมืองเจิ้งโจวสวมใส่แว่นตา Smart Glasses ที่สามารถเลือกผู้ต้องสงสัยได้จากฝูงชนในระยะ 5 เมตรในเวลาเพียง 2-3 นาที จึงเหมาะที่จะถูกนำมาใช้กับสถานีรถไฟแห่งนี้ที่ต้องรองรับผู้คนสัญจรจำนวนมากมายตลอด 6 สัปดาห์ของช่วงวันหยุดตรุษจีน

อนาคตสดใสของจีน

ถึงแม้ว่าจีนกำลังเผชิญกับการตัดสินใจใช้ Social Credit System ใหม่ที่เป็นกระแสในขณะนี้ แต่นวัตกรรมของจีนก็ได้ขยายผลให้เห็นมากขึ้น อาทิ ดิจิทัล เพย์เมนท์ของ Alipay ที่ได้รับการยอมรับจากร้านค้ากว่า 40 ล้านแห่งทั่วโลก หรือ บริการ Bike Sharing ของ Mobike และ ofo ที่พบได้ในอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ และอิตาลี และด้วยเงินอัดฉีดจำนวนมหาศาลและนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีที่เข้มแข็งเชื่อว่าจะนำพาจีนให้รุดหน้าเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นผู้เล่นตัวยงของอุตสาหกรรมหลักในเร็ววัน ธุรกิจในภูมิภาคคงต้องเตรียมกลยุทธ์ไว้ให้พร้อมรับมือ