นิราศกัมพูเชีย (1)

นิราศกัมพูเชีย (1)

นิราศกัมพูเชีย (1)

หนึ่งในประเทศที่มีคนพูดถึงมากในกลุ่มประเทศ CLMV และประชาชนคนไทยมีความใกล้ชิด มีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันในลักษณะเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และพม่า ก็คือกัมพูชา

ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสไปประเทศกัมพูชาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว โดยไปเฉพาะจังหวัดเสียมเรียบ เพื่อไปเยี่ยมชมนครวัด นครธม โบราณสถานที่มีชื่อเสียงลือลั่นของโลก ซึ่งในขณะนั้นสถานที่ท่องเที่ยวยังมีคนไปไม่มากนัก จำได้ว่าไกด์ที่มานำทัวร์ให้พวกเรานั้น รับงานไกด์เป็นงานรองจากงานหลัก ซึ่งก็คือการเป็นข้าราชการหน่วยงานที่น่าจะเทียบได้กับสภาพัฒน์ฯของไทย คณะทัวร์ของเราแม้จะไม่ได้เป็นคณะไฮโซ แต่ก็จำเป็นต้องนอนโรงแรมห้าดาว ซึ่งเป็นของคนไทย เนื่องจากการไปทานอาหารนอกโรงแรมในขณะนั้น อาจยังมีความเสี่ยงด้านความสะอาดสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง

จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนก็ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศกัมพูชาอีกครั้งร่วมกับคณะผู้ร่วมหลักสูตร TLCA Executive Development Program (EDP) จัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ผู้บริหารได้ออกไปเรียนรู้บริบทของการดำเนินธุรกิจ โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา

ประเทศกัมพูชามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีจำนวนประชากรประมาณ 15 ล้านคน มีรายได้ประชากรต่อหัว 1,078.4 เหรียญสหรัฐฯในปี 2559 กัมพูชามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะชะลออย่างมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2552 (เติบโตเพียง 0.1%) อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็กลับมาเติบโตอย่างมากอีกครั้งเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 7.13% ต่อปี

ซึ่งจากการที่ได้มีโอกาสพบปะผู้หลักผู้ใหญ่ นักธุรกิจไทยที่ไปก่อร่างสร้างตัวในกัมพูชามายาวนาน รวมถึงนักธุรกิจรายใหญ่ของกัมพูชา มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่หลายประการด้วยกัน ดังนี้

  1. ยอมรับการใช้จ่ายเงินสกุลอื่นโดยเสรี นอกเหนือจากเงินเรียล ซึ่งเป็นสกุลเงินทางการของประเทศแล้ว คนกัมพูชาสามารถใช้เงินสกุลอื่นสำหรับการซื้อขายสินค้า รับฝากเงินและปล่อยกู้ได้ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมาเป็นเงินบาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยในปี 2559 มีการใช้เงินดอลลาร์สูงถึง 84% ของปริมาณเงินฝากที่หมุนเวียนในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศ ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในการนำเงินเข้าไปลงทุนเหมือนการลงทุนในประเทศอื่นๆ
  2. อายุเฉลี่ยของประชากรต่ำมาก ในขณะที่ประเทศต่างๆในโลกไม่เว้นแม้กระทั่งจีน กำลังเผชิญกับภาวะสังคมสูงอายุ แต่ประชากรของประเทศกัมพูชากลับมีอายุเฉลี่ยเพียง 24 ปีเท่านั้น และมีวัฒนธรรมการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย คือ ประมาณ 18 ปี (ไม่ว่าจะรวย หรือจนแค่ไหน และสามารถอุ้มท้องไปเรียนได้) และนิยมมีบุตรมาก ซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงจำนวนประชากรวัยทำงาน และศักยภาพด้านการบริโภคของตลาดในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต
  3. ประชากรให้ความสำคัญกับการศึกษาและพร้อมที่จะเรียนรู้ จากการสำรวจที่จัดทำโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา และสถาบันวิจัย JICA ระหว่างปี 2557 – 2558 พบว่าคนกัมพูชาให้ความสำคัญกับการเก็บออมเงินเพื่อการศึกษาบุตรมากที่สุดเป็นลำดับสอง รองจากการเก็บเงินเพื่อการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน และมากกว่าเพื่อการขยายธุรกิจ ซึ่งจากการที่ผู้เขียนได้พบเจอผู้คนในที่ต่างๆไม่ว่าจะในโรงแรม ร้านอาหาร โรงงาน พบว่าคนกัมพูชาฟังภาษาอังกฤษ และไทยได้ และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับที่เรียกได้ว่าดี ถึงดีมาก โดยสถานที่เรียนพิเศษ ต้องแบ่งการเรียนเป็นกะ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ถึงขนาดที่ว่าเมื่อผู้เขียนถามไกด์ขณะอยู่ใกล้พื้นที่ป่าแห่งหนึ่งว่าสัตว์ป่าในกัมพูชาเหลือมากแค่ไหน ไกด์ตอบกลับมาทันควันว่า “ถ้าเป็นนกมีเยอะ เพราะเด็กๆไปเรียนหนังสือกันหมด ไม่มีเวลามายิงนกเหมือนสมัยก่อน”

เนื้อที่หมด แต่ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกมาก จึงขอยกยอดต่อไปในครั้งหน้านะคะ