5 เทคนิคลงทุนสร้างนวัตกรรมอย่างไร บริษัทถึงจะกำไรทันที

5 เทคนิคลงทุนสร้างนวัตกรรมอย่างไร บริษัทถึงจะกำไรทันที

5 เทคนิคลงทุนสร้างนวัตกรรมอย่างไร บริษัทถึงจะกำไรทันที

วันนี้บริษัทชั้นนำส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลกันแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของการลงทุนใน “นวัตกรรม” ของบริษัทต่างๆ ตามที่เห็นในหน้าข่าวประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง บริษัทหลายแห่งประกาศวิสัยทัศน์และรีแบรนด์ครั้งใหญ่ หลายแห่งลงทุนเปิดบริษัทลูกขึ้นมาใหม่เพื่อภารกิจการสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะ และอีกหลายแห่งประกาศสนับสนุนและจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทสตาร์ทอัพดาวรุ่งต่างๆ

คำถามสุดฮิตที่ผมถูกนักธุรกิจรุ่นพี่ถามอยู่ตลอดเวลาก็คือ “พี่จะเริ่มทำให้บริษัทพี่ Go Digital ทันสมัยยังไง ถึงจะสำเร็จและคุ้มที่สุด?” ผมสรุปคำตอบได้เป็น 5 ข้อดังนี้ครับ

1.วันนี้ธุรกิจวิ่งเร็วมาก ตัดสินใจช้าไม่กี่เดือน อาจเสียโอกาสหลายล้าน

บ่อยครั้งที่ผมให้คำปรึกษาหรือเข้าไปเสนองานด้านนวัตกรรมกับบริษัทใหญ่ๆ โดยการประชุมครั้งแรกมักยังไม่ได้ข้อสรุป ก็จะได้รับนัดประชุมกับแผนกอื่นในสัปดาห์ต่อมา จากนั้นก็ถูกนัดประชุมกับอีกหลากหลายแผนก แต่ละประชุมห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ เรียกว่าได้นามบัตรเกือบจะทั้งตึกแล้ว ผ่านไป 6 เดือนโครงการก็ยังไม่เกิด ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเอาค่าแรงตามชั่วโมงประชุมของบุคคลากรในนามบัตรที่ผมได้รับทั้งหมดมารวมกัน บวกด้วยค่าเสียโอกาสที่หากโครงการเกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนแรกแล้ววันนี้โครงการนั้นเริ่มทำกำไรให้กับบริษัทได้ รวมกันอาจมีมูลค่ามากกว่าเงินลงทุนในโครงการที่ยังอยู่บนหน้ากระดาษนี้เสียอีก ยิ่งทุกวันนี้นวัตกรรมเปลี่ยนไปเร็วมาก สิ่งที่คุยกันเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว ดังนั้นหากบริษัทใดต้องการเริ่มโครงการด้านนวัตกรรมเพื่อให้ “ทันสมัย” ควรจะคำนึงถึง “ต้นทุนด้านเวลา” และลดความลังเลให้น้อยที่สุดเป็นประการแรก

2.ต่อยอดนวัตกรรมเร็วกว่าเริ่มต้นการทดลองใหม่

เพราะนวัตกรรมเกิดจากการทดลอง หากมีองค์กรที่ทดลองทำแล้วประสบความสำเร็จในแง่มุมใดมุมหนึ่ง แม้จะยังไม่ครบทุกองค์ประกอบที่จะทำให้ธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เช่นทดสอบมาแล้วอาจได้ผลิตภัณฑ์หลักที่ดี แต่ขาดปัจจัยสนับสนุนด้านอื่นๆ การที่เราเข้าไปเป็นพันธมิตรและทำการต่อยอดร่วมกันอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดกว่าการเริ่มตั้งแผนกใหม่ รับสมัครทีมงานใหม่ วางโครงสร้างกระบวนการทำงาน และสร้างนวัตกรรมลองผิดลองถูกตั้งแต่เริ่มต้นทั้งหมด ยิ่งนวัตกรรมยุคนี้มาแล้วไปเร็วมาก กว่าจะรับสมัครทีมงานครบพร้อมเริ่มงานได้ สิ่งที่คิดทำแต่แรกมักจะเก่าไปเรียบร้อยแล้ว

3.ผสมผสานวัฒนธรรมองค์กรระหว่างทีมใหม่กับทีมเดิม

เมื่อได้ทีมงานใหม่ไม่ว่าจะในรูปแบบของพันธมิตรหรือหน่วยงานย่อยก็แล้วแต่ อุปสรรคสำคัญที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ หรือทีมใหม่อยากทำงานกับองค์กรเรานานๆ ก็คือบรรยากาศในการทำงานหรือวัฒนธรรมองค์กรนั่นเอง ซึ่งธรรมชาติองค์กรที่ตั้งมาแล้วเกิน 5 ปี จะตามมาด้วยกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการตอกบัตรเข้างานก่อน 8 โมง ตอกบัตรออกหลัง 6 โมงให้ตรงเวลา มีระดับชั้นองค์กรที่ซับซ้อน (Hierarchical Organization) ไปจนถึงการวัดผลการทำงานที่ลดการลงรายละเอียดเชิงคุณภาพลง ซึ่งการผสมผสานระหว่างกฎและวัฒนธรรมระหว่างทีมเดิมและทีมใหม่ให้ลงตัว เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ไม่มีสูตรสำเร็จนอกจากการทดลองปรับใช้ในแต่ละกรณี และอาศัยการสื่อสารอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารและทีมงานทั้งสอง

4.ปรับระบบและวงจรการทำงานให้เร็วขึ้น

บริษัทนวัตกรรมมีคำพูดติดปากว่า “การประชุม = เสียเวลา” เพราะการประชุมแบบเดิมๆ มักเต็มไปด้วยการทบทวนเรื่องเดิมๆ ระหว่างหลายฝ่าย ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีอย่างการ Chat การส่งรูปส่งคลิปวิดีโอเข้ากลุ่มทำงาน ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ยิ่งบริษัทที่มีหลายสาขา ประชุมทุกครั้งต้องมากันพร้อมหน้า ทั้งที่บางวาระแค่ประชุมผ่านโทรศัพท์หรือ Video Conference ก็สื่อสารกันได้รู้เรื่องแล้ว เวลาที่ใช้ในการประชุมรวมกับเวลาในการเดินทางไปและกลับของพนักงานแต่ละคนเกือบครึ่งวัน คือเวลาที่เขาเสียโอกาสในการทำงานสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร ซึ่งบริษัทนวัตกรรมส่วนมากจะประชุมแบบเจอหน้ากันเฉพาะกับโจทย์ที่ต้องการการคิดร่วมกันมากๆ (Brainstorming) หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เท่านั้น

5.การสร้างนวัตกรรมโอกาสสำเร็จต่ำ ต้องกระจายความเสี่ยง และเลือกลงทุนในสิ่งที่ทำกำไรทันที

ต่อให้บริษัทใดสามารถทำทั้ง 4 ข้อแรกนี้ได้เป็นอย่างดี อัตราความล้มเหลวของธุรกิจด้านนวัตกรรมก็ยังคงสูงเป็นธรรมดา ผู้บริหารจึงควรวาง Mindset ให้ถูกต้อง เปลี่ยนความกลัวที่ว่าลงทุนไปกับนวัตกรรมเรื่องนี้หลายรอบแล้ว ก็ยังล้มเหลวกว่า 90% ให้กลายเป็นการจัดทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เราอาจแบ่งงบประมาณที่มีออกเป็นหลายๆ โครงการย่อย ให้หลายทีมทดลองทำพร้อมๆ กันเพื่อประหยัดเวลาและกระจายความเสี่ยง หากโครงการใดสอบผ่านจึงค่อยโยกทรัพยากรมาให้กับโครงการนั้นมากขึ้น โดยโครงการที่สามารถตัดสินใจทำได้เร็วคือโครงการที่เมื่อทำแล้ว แม้จะล้มเหลวในเชิงยอดขาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เช่นระบบหรือผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ได้จากโครงการนั้น สามารถนำมาปรับใช้กับกระบวนการทำงานภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ทันที ซึ่งถ้าค้นหาดีๆ จะพบคำตอบในทุกองค์กรครับ

หากพบความยากลำบากในการสร้างนวัตกรรมขององค์กร ต้องถามตัวเองว่า แล้วองค์กรเราต้องการสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมหรือไม่? ถ้าคำตอบคือต้องการ ก็ต้องพยายามต่อไปไม่ยอมแพ้ครับ