แพลตฟอร์มของโลกยุคใหม่ (2)

แพลตฟอร์มของโลกยุคใหม่ (2)

โลกยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มไอทีน ไม่ได้มีแค่แอพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ เช่นกูเกิลเพลย์หรือแอพสโตร์ ที่มีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาท

ดังที่ผมเกริ่นไว้ใน “Think out of The Box” ฉบับที่แล้วเท่านั้นเพียงอย่างเดียว เพราะแพลตฟอร์มในรูปแบบอื่นๆ ก็ล้วนมีการเติบโตไม่แพ้กันจนส่งผลกระทบรุนแรงกับธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจสื่อที่เราได้ข่าวคราวมาโดยตลอด ซึ่งก็คือการปิดตัวของนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาแล้วมากมายในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากปัญญาอุตสาหกรรมสื่อ เนื่องจากยอดโฆษณาที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่โลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และการดูคอนเทนท์ออนไลน์ มีบทบาทและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเมินกันว่า งบโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อและดิจิทัล มีเดียทั้งหมดถูกแบ่งให้กับ 2 แพลตฟอร์ม หลักคือกูเกิลราวๆ 40% ตามมาด้วยเฟซบุ๊ค 37% คงเหลือให้สื่ออื่น ที่เป็นสื่อดั้งเดิมเช่นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ประมาณ 23% เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ผลิตคอนเทนท์ คือเนื้อหาและข่าวสารทั้งหมดมีสัดส่วนรายได้เพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมดที่เม็ดเงินโฆษณาใส่เข้ามาในระบบ แต่กลับต้องแบกรับภาระในการผลิตเนื้อหาทุกรูปแบบรวมถึงภาษีเงินได้ให้กับแต่ละประเทศ

ในขณะที่ผู้ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ให้บริการค้นหา แบนเนอร์โฆษณา วีดิโอ โซเชียลมีเดีย ออนไลน์คลาสิฟายด์ มีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 77% 

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เชื่อได้ว่าสื่อดั้งเดิมที่ยังทำธุรกิจในรูปแบบเดิม จะไม่เหลือพื้นที่ยืนอีกต่อไปในโลกของโฆษณายุคใหม่ที่เทเม็ดเงินลงไปในสื่อออนไลน์ ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบการแข่งขันในรูปแบบนี้ หรือไม่เราก็ไม่มีทางจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเสพสื่อบนแพลตฟอร์มใหม่ ได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิงแล้ว

หันมาดูแวดวงค้าปลีก แม้ว่าทุกอย่างจะดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นร้าน Amazon Go คือ ร้านค้าปลีกต้นแบบของอเมซอน ที่ทดลองเปิดให้บริการในซีแอตเติล สหรัฐ โดยมีจุดเด่นคือไม่มีพนักงานให้บริการลูกค้าเลยแม้แต่คนเดียว

โดยอเมซอนโก ได้ใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ในการจับความเคลื่อนไหวของลูกค้า และรับรู้ได้ว่าลูกค้าหยิบเลือกสินค้าอะไรลงในตะกร้าบ้าง และสามารถคำนวณคิดค่าสินค้ารวมทั้งหมด และชำระเงินผ่านระบบอัตโนมัติได้ทันที โดยไม่ต้องให้พนักงานตรวจรับและจ่ายเงินเหมือนร้านทั่วๆ ไป ทำให้การซื้อของในร้านนี้จึงง่ายแค่หยิบของแล้วเดินออกไปเลยเท่านั้นเอง

แต่ความง่ายของ อเมซอนโกต้องอาศัยความก้าวหน้า คือ การรวบรวมข้อมูล (บิ๊กดาต้า) การวิเคราะห์ข้อมูล (อะนาไลติกส์) ระบบเอไอ และเซ็นเซอร์อีกมากมาย ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้บางส่วนก็ได้มาจากร้านค้าออนไลน์ของอเมซอนเอง ที่สามารถคาดเดาความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้รู้ใจว่าลูกค้ามีความต้องการอะไรในขณะนั้น 

เพราะรายการสินค้าที่มีจำหน่ายในเว็บไซต์อเมซอนนั้นมีมากมายมหาศาล ระบบที่ดีจึงต้องคัดเลือกสินค้าที่ดูแล้วตรงกับพฤติกรรม ของลูกค้ามาแสดงให้เห็นในหน้าเดียว ซึ่งระบบดังกล่าวที่เป็นนี้ จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่เป็นพื้นฐานให้อเมซอนต่อยอดไปยังช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ระบบไอทีที่เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภค จึงยังเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจยุคใหม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำในแต่ละองค์กร ว่ามองเห็นและจับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้รวดเร็วเพียงใด