คุณสมบัติที่พึงมี ใน“บอร์ด กสทช.”

คุณสมบัติที่พึงมี ใน“บอร์ด กสทช.”

พลันที่เสร็จสิ้นการเปิดรับสมัครผู้จะมาดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ชุดใหม่

แทนชุดเก่าที่พ้นวาระไปตั้งแต่ 6 ต.ค. 2560 ปรากฏว่า คึกคักอย่างยิ่งมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 86 คนด้วยกัน 

รอบนี้จะเป็นการสรรหาทั้งหมด 7 คนใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม วิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เป็นสรรหาพร้อมกันแบบยกชุด

 น่าสนใจตรงที่เที่ยวนี้ มีคนดังและคนไม่ดัง บิ๊กเนม โนเนม แห่สมัครกันคับคั่งมีทั้ง อดีตบิ๊กข้าราชการ-ทหาร ตำรวจ อดีตผู้บริหารจากรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรมหาชน และผู้บริหารจากภาคธุรกิจเอกชนและจากคนในวงการสื่อ บางคนไม่ได้หวังว่าจะได้รับเลือก แต่สมัครเพื่อสร้างโปไฟล์ให้ตัวเองเท่านั้น

ก่อนที่จะมองไปข้างหน้าถึงการสรรหาชุดใหม่ คงมองย้อนหลังในห้วง 6 ปีที่ผ่านมาว่า บอร์ดชุดปัจจุบันที่ยังรักษาการ มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง

ผลงานที่เห็นๆ ตั้งแต่ประมูลคลื่น 3G และ 4G ทั้งย่าน 2100 MHz ย่าน 900 MHz และย่าน 1800 MHz มีรายได้จากการประมูล 274,355 ล้านบาทยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 19,204 ล้านบาท ประมูลช่องทีวีดิจิทัลอีก 50,862 ล้านบาท ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังกันอยู่กระทั่งทุกวันนี้ และ การประมูล”เบอร์สวย” 4 ครั้ง อีก 253.65 ล้านบาท

เรียกว่ารายได้อู้ฟู้กว่า3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

สำนักงาน กสทช.ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอื่น ๆ ราวๆหมื่นกว่าล้านบาท

ทั้งยังมีเงินจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งผู้รับใบอนุญาตต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอีก ราว 38,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่ยังติดพันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่บอร์ดใหม่จะต้องรับช่วงต่ออีกหลายโปรเจค ไม่ว่าจะเป็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งอยู่ภายใต้สัมปทาน ของดีแทคที่จะสิ้นสุด ก.ย. 2561

คลื่น 2600 MHz ในมือ บมจ.อสมท. รวมถึงย่านคลื่น 700 MHz ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมตามที่ ITU หลังสัมปทานทีวีอานาล็อกสิ้นสุดในปี 2563

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผลงานหลักๆ คือ”หารายได้เขาคลัง” หากมองแบบดาดๆ ก็อาจจะเห็นเป็นผลงานชิ้น ”โบว์แดง” 

แต่โดยส่วนตัวกลับมีคำถามตัวโตๆ ว่า 6 ปีที่ผ่านมา บอร์ดชุดที่แล้วเดินถูกทางหรือไม่ ภารกิจของบอร์ดแค่หารายได้เท่านั้นหรือ

อันที่จริง ระบบโทรคมนาคมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในต่อระบบเศรษฐกิจและ ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะมีประโยชน์อะไร ที่กระทรวงการคลังมีเงินมากขึ้น แต่คนทำธุรกิจหรือคนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการโทรคมนาคม ต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มเกินความเป็นจริง

 ในที่สุดประเทศก็ไปแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เพราะ”ต้นทุน”ของระบบโทรคมนาคม ที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนประเทศสูงกว่าคู่แข่ง

หากจะฉายภาพชัดๆ ระบบโทรคมนาคมก็เหมือนกับระบบโลจิสติกที่รัฐบาลกำลังเร่งลงทุน เพื่อให้ระบบขนส่งมีศักยภาพ ทำให้ต้นทุนในการขนส่งถูกลงสินค้าที่ส่งออกอันเป็นรายได้หลักของประเทศสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ขณะที่ “โลจิสติกส์” ขนส่งสินค้าแต่โทรคมนาคม “ขนส่งข้อมูล” ที่มีความจำเป็นในทางธุรกิจไม่น้อยกว่ากัน แต่กลายเป็นว่า รัฐบาลพยายามทำให้ต้นทุนโลจิสติกต่ำโดยการทุ่มงบประมาณสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ต้นทุนของโทรคมนาคมเรากลับสูงเพราะมีการเก็บค่าต๋งจากการประมูลแพง

ที่ยกตัวอย่างข้างต้นเพื่อจะให้เห็นว่า บุคคลที่จะมานั่งเป็น บอร์ดกสทช.นั้นจะต้อง”วิสัยทัศน์”กว้างไกลต้องมอง”ภาพใหญ่”ในระบบเศรษฐกิจออก ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจ จะต้องไม่คับแคบ ประเภท “มองงานหน้าเดียว” แค่รายได้เท่านั้น

บอร์ดชุดใหม่นี้ควรเปิดโอกาสคน “รุ่นใหม่” ไม่ใช่คนที่เกษียณมาแล้วหลายปี เพราะเรื่องเทคโนโลยีนับวันที่จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ต้องได้คนรุ่นใหม่ที่รู้เท่าทันสถานการณ์โลก และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างดี

ขณะเดียวกันต้องมี “วุฒิภาวะ” คนที่เป็นบอร์ด ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ทะเลาะกันบลั๊ฟกันออกสื่อ ต้องรู้จักวางบทบาทไม่ก้าวก่ายคนทำงานประจำ ต้องเข้าใจบทบาททำหน้าที่กำหนดนโยบายแล้วให้ผู้ปฏิบัติงานทำตามกรอบไม่ใช่ลงไปล้วงลูก ต้องวางตัวให้เป็นที่นับถือของผู้ปฏิบัติงาน และต้องทำงานเป็นทีม ไม่แบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าพวกใครพวกมัน

เหนือสิ่งใด “วุฒิภาวะ”หมายถึงการวางตัว มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมทำตาม “ใบสั่ง” ไม่ว่าจากใคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์หรือใบสั่งทางการเมือง จะต้องรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

บอร์ดในแต่ละสาขาโดยเฉพาะสาขาวิชาชีพเช่น ด้านกระจายเสียง ด้านโทรทัศน์ ด้านโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม จะต้องมีความรู้ความสามารถจนถึงขั้นเชี่ยวชาญ ต้องเข้าใจโครงสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องและเข้าใจในเชิงเทคนิคอย่างดีไม่ใช่ใครมาเป็นก็ได้

แต่ที่สำคัญที่สุด ผู้ที่จะมาเป็นบอร์ด จะต้องเป็น”กลาง”กล่าวคือ จะต้องไม่มาจากหน่วยงานที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเช่น มีคลื่น มีสถานีที่หาประโยชน์อยู่แล้ว เพราะจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้... 

ไม่รู้คุณสมบัติเหล่านี้จะมีจริงหรือไม่

โดย...  ทวี มีเงิน