ฟาร์มสุกรไทย ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ

ฟาร์มสุกรไทย ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ

ปัญหาเชื้อดื้อยาหรือการเจ็บป่วยโดยไม่มียารักษา เนื่องจากเชื้อโรคมีการพัฒนาตัวเองจนล้ำหน้ากว่ายาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพที่มีบนโลกใบนี้

กำลังเป็นปัญหาใหญ่ 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health-OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations –FAO) ต่างให้ความสำคัญ เกิดเป็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญระดับโลกที่เรียกกันว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพของ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

เมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสได้ต้อนรับคณะแพทย์ สัตวแพทย์และนักวิชาการจากหลายประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2561(Prince Mahidol Award Conference2018:PMAC2018)จัดโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นการประชุมที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพในประเด็นเกี่ยวกับการทำให้โลกปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านโรคติดต่ออุบัติการณ์ใหม่ (Making the word safe from The threats of emerging infectious disease)

นับเป็นงานใหญ่ระดับชาติ และนักวิชาการเหล่านี้ล้วนได้ชื่อว่าเป็นแขกของรัฐบาลไทย จึงเป็นอีกวาระหนึ่งที่ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

ในฐานะตัวแทนของเอกชนภาคปศุสัตว์ไทย ตัวแทนของประเทศไทยที่มีส่วนช่วยอธิบายถึงมาตรการต่างๆ ที่บริษัทได้ทำ เพื่อลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยาในสังคมโลก ภายใต้ “นโยบายการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ” ที่ซีพีเอฟประกาศใช้ทั่วโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

การบริหารจัดการด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีส่วนในการใช้ยาต้านจุลชีพ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุขของคน การเลี้ยงปศุสัตว์ และการเกษตร เป็นความร่วมมือหนึ่งเดียวในการลดโอกาสเกิดเชื้อดื้อยา 

ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในทุกประเทศ ที่บริษัทไปลงทุนด้านการเลี้ยงสัตว์ จึงประกาศเป็น“วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์”ที่มีผลบังคับใช้กับฟาร์มของซีพีเอฟทั่วโลก

หลายคนถามว่า ทำไมไม่เลิกใช้ยาไปเลย ทำไมไม่ประกาศว่าจะเลี้ยงสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะ

คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเลี้ยงสัตว์ที่ดีมีมาตรฐาน จะมุ่งเน้นทำให้สัตว์มีสุขภาพดีเป็นหลักเสมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ยารักษา โดยบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการป้องกันโรค การจัดการฟาร์มทีดี โรงเรือนที่ดี อาหารที่ดี และสายพันธุ์สุกรที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่กล่าวมาแล้วอย่างดีที่สุดแล้ว หากสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีการป่วยด้วยสาเหตุใดก็ตาม ด้วยจรรยาบรรณของสัตวแพทย์ ไม่สามารถปล่อยให้สัตว์ต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยนั้นได้ ต้องทำการรักษาสัตว์นั้น ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ซึ่งการปฏิบัติดังนี้ถือว่าเป็นหลักการของคำว่า “การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ”

นโยบายด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างรับผิดชอบของซีพีเอฟ ประกอบไปด้วย

1.)การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

2.)หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์เร่งการเจริญเติบโตในสัตว์

3.)ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์เพื่อให้มีสุขภาพดี ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ 

บริษัทจะทำงานตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารโปรตีนทั่วโลก และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และ สิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสม

ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟจะมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ที่ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ และสมาคมสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ด้านการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดในฟาร์ม จะมีมาตรการควบคุมที่รัดกุม 

ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือก การจัดซื้อ การใช้ ตลอดจนการติดตามผลการรักษา การตรวจสอบสารตกค้างในเนื้อสัตว์ การควบคุมดูแลการใช้ยาอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์จะครอบคลุม ตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกร เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ส่วนคำถามที่ว่า ยาต้านจุลชีพกับยาปฏิชีวนะต่างกันอย่างไร

อธิบายง่ายๆ ได้ว่า“ยาต้านจุลชีพ”(Antimicrobial agents)หมายถึง ยาที่มีผลยับยั้ง หรือทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และพยาธิ ซึ่งครอบคลุมยาปฏิชีวนะ(Antibiotics)ด้วย เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีผลยับยั้งทำลายเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ จึงเป็นเพียงหมวดหนึ่งของยาต้านจุลชีพนั่นเอง

Dr.Jaana Husu-Kallio ปลัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ฟินแลนด์ ที่ได้เข้าเยี่ยมชมระบบการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบของฟาร์มสุกรCPFใน จ.ระยอง กล่าวถึงฟาร์มสุกรของไทยว่ามีการบริหารจัดการที่ดี และชื่นชมที่ซีพีเอฟได้ยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินแล้ว

ทั้งนี้ “โคลิสติน”เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาอาการท้องเสียในสัตว์ที่ให้ผลดีมากตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่อมาในปี 2559 กรมปศุสัตว์ได้ออกบันทึกขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ให้ลดการใช้ยานี้ จากรายงานของต่างประเทศที่ว่า “ยาโคลิสตินสามารถก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง” 

ประกอบกับข้อมูลทางห้องแล็บก็พบว่าเชื้อที่เคยใช้ยานี้แล้วได้ผลดี ก็มีอัตราการดื้อยาสูงขึ้น และยาโคลิสตินก็เป็นยาทางเลือกตัวสุดท้ายที่ใช้ในคนกรณีที่ใช้ยาอื่นๆ รักษาแล้วไม่ได้ผลซีพีเอฟจึงยกเลิกการใช้ยาโคลิสติน

ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะถือว่าเป็นปัญหาในระดับโลก และหากจะตั้งคำถามหาว่าอะไรหรือใครคือต้นเหตุของปัญหา คงยากที่จะด่วนสรุป ณ ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าการใช้แบบพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น การใช้ยามากเกินไป การใช้ยาไม่ตรงกับโรค การใช้ยาเถื่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งการใช้ยาปฏิชีวนะโดยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและใช้โดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์หรือสัตวแพทย์ 

ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนคงต้องกลับไปดูแลในส่วนงานของตนเอง แล้วมุ่งเน้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม

คนป่วยและสัตว์ป่วย ก็ล้วนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาเท่าเทียมกัน แต่การรักษาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และสัตวแพทย์เพื่อให้การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างถูกต้อง ลดปัญหาเชื้อดื้อยาลงให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ รวมถึง สิ่งแวดล้อมบนโลกของเรา

โดย... น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์

รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร