หุ้นปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ หรือลงเพราะวิกฤตกำลังมา ดูอย่างไร

หุ้นปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ หรือลงเพราะวิกฤตกำลังมา ดูอย่างไร

ตลาดหุ้น ปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ หรือ ลงเพราะวิกฤตกำลังมาแล้ว ดูอย่างไร

สัปดาห์ที่แล้ว ถือว่าเป็นสัปดาห์ที่นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนยังต่างประเทศ ได้ลองทดสอบจิตใจ และได้เห็นสภาพความเป็นจริงของตลาดหุ้น หลังจากไม่ได้เห็นมานานเป็นเวลาปีกว่าๆนะครับ

จุดเริ่มต้น ก็เกิดจากการที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ออกมาที่ 200,000 ตำแหน่ง ดีกว่าตัวเลขของเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ด้วย จนเป็นเหตุให้นักลงทุนกังวลกันว่า ธนาคารสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดหรือไม่? เพราะฝั่งเงินเฟ้อ ก็เหมือนจะขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วนี่ในตลาดแรงงานก็ยังแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีก

ปัญหาคือ การผิดหวัง สมหวัง หรือ มากกว่าที่หวัง ในอดีตที่ผ่านมา มันทำให้ตลาดผันผวน อันนี้พอเข้าใจได้ แต่ที่นักลงทุนอาจเข้าใจยากหน่อยก็คือ ทำไมการเทขายรอบนี้ในตลาดหุ้นโลก ถึงรุนแรง และหนักขนาดนี้? ขนาดนี้ ภายใน 1 สัปดาห์ ดัชนี Dow Jones และ S&P 500 ร่วงไปต่ำกว่า -10% ในวันศุกร์ที่แล้ว ก่อนมีดีดกลับมาได้คืนนั้น และดัชนีตลาดหุ้นในยุโรป อย่าง DAX ของเยอรมัน CAC 40 ของฝรั่งเศส ก็ปรับตัวลงมากกว่า -10% เช่นกัน

มาที่ฝั่งเอเชีย ดัชนีหลักๆของฝั่งนี้อย่าง Hang Seng ของฮ่องกง KOSPI ของเกาหลีใต้ และ Taiwan Weighted ของไต้หวัน ก็ลบไปราวๆ -7% ถึง -10% เช่นเดียวกัน ขณะที่ไทยเรา SET Index ลงไปทำจุดต่ำสุดสัปดาห์ที่แล้วที่ 1,758 จุด หรือลบลงไปจากจุดสูงสุดประมาณ -3% ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งมากภูมิภาคพอสมควร

กลัวดอกเบี้ยขึ้นขนาดนี้เลย?

นี่คงเป็นคำถามที่พุดขึ้นมาในใจนักลงทุนทุกคนนะครับ ประเด็นคือ เรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องการกลัวดอกเบี้ยขึ้นแรงกว่าคาด อันนี้ก็ใช่ แต่อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่วิ่งขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2016 มากกว่า 50% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีการปรับฐานหนักๆเลย และยิ่งวิ่งแรงในช่วงเดือนม.ค. เดือนเดียว S&P 500 บวกไปมากกว่า +5% ก็สะท้อนว่า ตลาดวิ่งแรงและเร็วเกินไปครับ ยังไงผลประกอบการบริษัทก็วิ่งไม่ทันหรอก ดังนั้น วิ่งแรง ตอนปรับฐาน ก็อาจจะแรงตามไปด้วย นี่คือ สัจธรรมของตลาด และมันคือ สัจธรรมของโลกเลยก็ว่าได้

มาที่คำถามตามหัวข้อบทความกันว่า “ตลาดหุ้น ปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ หรือ ลงเพราะวิกฤตกำลังมาแล้ว ดูอย่างไร?”

ซึ่งก็คงมีหลายวิธีในการพิจาณานะครับ แต่หนึ่งในวิธีที่น่านำมาพิจารณาประกอบ ก็คือ การดูหลักฐานในอดีต ว่าการลงของดัชนีแต่ละรอบ ความแรงเป็นอย่างไร อยู่ในภาวะใดของเศรษฐกิจ ตามไปดูกันครับ

นับตั้งแต่หลังวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (พิจารณาจาก S&P 500) ร่วงต่ำกว่า -10% มาทั้งหมด 4 ครั้ง

ปี 2010 ปรับฐาน -17% และตลาดคลายกังวลหลังจาก เฟดประกาศออกนโยบาย QE2

ปี 2011 ปรับฐาน -21% และตลาดกลับมาคลายกังวลหลังจาก เฟดประกาศนโยบาย Operation Twist

ปี 2012 ปรับฐาน -1% และตลาดกลับมาคลายกังวลหลังจาก เฟดประกาศออกนโยบาย QE3 และประธานเฟดให้คำมั่นกับตลาดว่า จะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะเข้าปี 2015

ปี 2016 ปรับฐาน -15% เกิดจากตลาดกังวลจะเกิด Hard Landing ในเศรษฐกิจจีน และการปรับตัวลงแรงของราคาน้ำมัน ซึ่งรอบจริงๆ ตลาดมีการปรับฐานมาก่อนแล้วในปี 2015 ก่อนจะรีบาวน์แล้วร่วงใหม่ในปี 2016 โดยรวมแล้วตลาดใช้เวลาเกือบ 1 ปีเต็มในการสร้างฐาน และปรับตัวขึ้นได้เอง จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวไปต่อได้ และราคาน้ำมันหาจุดต่ำสุดของรอบเจอ

ถ้ามองการรีบาวน์ของตลาดหุ้น S&P 500 ในปี 2010 – 2016 ทั้งหมด 4 ครั้ง จะพบว่า เป็นการรีบาวน์จากการที่มีนโยบายการเงินสวนตลาดหุ้นถึง 3 ครั้ง นั่นคือปี 2010, 2011 และ 2012 ในขณะที่ พอเข้าสู่ปี 2016 ซึ่งปลายปี 2015 ตอนนั้น ที่ประชุม FOMC เพิ่งประกาศขยับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดเหตุวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 จากระดับ 0.25% เป็น 0.50%

เพราะไปสัญญากับตลาดไว้ว่า จะไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะเข้าปี 2015 และพอขึ้นไปแล้วปั๊บจะกลับลำมาลดดอกเบี้ย หรือออก QE ก็ไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องปล่อยให้เป็นกลไกตลาดในการพักฐานและหาปัจจัยบวกจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเอง

สรุปคือ พอไม่มี Action ใดๆออกจากธนาคารกลางในการทำให้ตลาดหุ้นสบายใจ ก็ทำให้การปรับฐานยืดเยื้อ และนานกว่าปกตินั่นเอง ดังนั้น ปรับฐานรอบนี้ ลองตั้งสมมติฐานเล่นๆดูนะครับว่า การร่วงลงเพื่อต้อนรับประธานเฟดคนใหม่ คือ Jerome Powell รอบนี้ท่านประธานเฟดคนใหม่จะงัดนโยบาย หรือ มีวิธีการพูดโน้มน้ามอย่างไรให้ตลาดเชื่อได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่ง และให้ความมั่นใจกับนักลงทุน คำพูดของท่านน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางตลาดหลังจากนี้นะครับ

ถ้าพูดดี ตลาดให้ความมั่นใจ ไม่มีประเด็นอะไรใหม่ๆให้กังวล นี่ก็คงเป็นแค่การปรับฐาน แต่เกิดทิศตรงกันข้าม ก็คงต้องเผื่อใจหวังไว้เช่นเดียวกัน

ส่วนจะเป็นวิกฤตเลยหรือไม่นั้น ถ้าจะเกิดจริง ระหว่างทางหลังจากนี้ มันต้องมีปัญหาอื่นโผล่ขึ้นมาด้วยครับ และเราคงต้องเอามาพิจารณาประกอบกันอีกทีว่า รุนแรงแค่ไหน สำหรับ ณ ตอนนี้ อย่ามองแง่ร้ายมากเกินไปครับ