แก้ว 3 ดวงของบัฟเฟตต์

แก้ว 3 ดวงของบัฟเฟตต์

แก้ว 3 ดวงของบัฟเฟตต์

การปรับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐและอีกหลายตลาดทั่วโลก (ยกเว้นตลาดหุ้นไทย) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นต้องถือว่ารุนแรงและน่ากลัวเนื่องจากดัชนีหุ้นดาวโจนส์ได้ปรับตัวลงมาถึง 2,326 จุดหรือลดลง 8.88% ในเวลาทำการเพียง 6 วัน จากวันที่ 2 ถึง 9 กุมภาพันธ์ 2018  แต่ถ้านับย้อนหลังไปถึงวันที่ 26 มกราคม 2018 ที่ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 26,617  จุด  การปรับตัวลงมารอบนี้ก็ลดลงมาถึง 10% ในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่ทำให้หุ้นตกนั้นน่าจะเกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ต่ำมากที่ดำรงมาประมาณ 10 ปีหลังจากวิกฤติซับไพร์มของอเมริกานั้นดูเหมือนว่าจะเริ่ม “กลับทิศ” ซึ่งทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นหวั่นเกรงว่าการปรับตัวของหุ้นที่ขึ้นต่อเนื่องมา 10 ปีอย่างรวดเร็วและมั่นคงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นอาจจะถึงเวลาสิ้นสุดลง   นักลงทุนซึ่งรวมถึงหุ่นยนต์เทรดหุ้นทั้งหลายจึงเทขายหุ้นกันอย่างหนัก

แต่นักลงทุนคนหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้ขายหุ้นและ “เจ็บตัว” มากที่สุดคนหนึ่งก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์   ความเสียหายของเขาตกอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินบาทก็ประมาณไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ในเวลาเพียง 5-6 วันทำการ  อย่างไรก็ตาม  ความมั่งคั่งของเขาก็ยังอยู่ที่ประมาณ 84,000 ล้านเหรียญ ใกล้จุดสูงสุดในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์  ดังนั้น  เขาคงไม่สะเทือนอะไรนัก  น่าจะเรียกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้  นอกจากนั้น  ผมเองคิดว่าบัฟเฟตต์เองก็ไม่ได้เสียใจอะไรนัก  เพราะนี่ไม่ใช่การ “ขาดทุนจริง”  มันเป็นเพียง “ตัวเลข” ที่ลดลงซึ่งในที่สุดถ้าบริษัทที่เขาลงทุนยังดีเหมือนเดิม  ราคาหุ้นก็จะกลับขึ้นมาเอง   ว่าที่จริงบัฟเฟตต์อาจจะดีใจด้วยซ้ำ  เพราะเขามีเงินสดเหลืออยู่มาก  เพราะฉะนั้น  เขาก็จะสามารถเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่ถูกลงซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ในฐานะที่เป็นนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุน  “ตลอดชีวิต”  การที่หุ้นมีการปรับตัวขึ้นลงนั้นเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องรับกับมันให้ได้เป็นอย่างดี  เราไม่ต้องดีใจหรือเสียใจเพราะมันมักไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนไปจากความเป็นจริงที่ว่า  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  สำหรับแต่ละคนจะมีความมั่งคั่งมากน้อยเท่าไรในชีวิตนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับ  “ความสว่างไสวของดวงแก้ว 3 ดวงของแต่ละคน”  นั่นคือ  1)  จำนวนเงินต้นจากแหล่งอื่นที่นำมาลงทุน  2)  ผลตอบแทนระยะยาวแบบทบต้นของการลงทุนแต่ละปี  และ 3)  ระยะเวลาที่ลงทุน  ใครมีเงินต้นมาก  ได้ผลตอบแทนแบบทบต้นต่อปีสูง  และมีระยะเวลาการลงทุนนานเท่าไร  เขาก็จะรวยหรือมั่งคั่งมากขึ้นเท่านั้น

ผมลองตรวจสอบแบบหยาบ ๆ  จากข้อมูลการลงทุนของบัฟเฟตต์แล้วก็พบความจริงที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

บัฟเฟตต์เองน่าจะมีแก้วดวงแรกที่สว่างพอสมควรแต่ก็ไม่ได้สว่างมาก  จริงอยู่  ครอบครัวของบัฟเฟตต์ในช่วงที่เขาเริ่มลงทุนนั้นน่าจะเป็นคนมีฐานะพอสมควร  เพราะพ่อของเขานั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอเมริกาหลายสมัยและยังเป็นเจ้าของธุรกิจคือเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย  แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่เคยได้เงินจากพ่อ  เขาหาเงินเองมาตั้งแต่เด็กโดยการทำงานสารพัดรวมถึงการลงทุนทำธุรกิจเล็ก ๆ  หลายอย่าง    หลังจากเข้ามาลงทุนเป็นอาชีพโดยการรับบริหารเงินกองทุนนั้น  เขาก็ได้ส่วนแบ่งกำไรเป็นกอบเป็นกำเนื่องจากทำผลงานได้ดี  โดยสรุป  ผมประมาณว่าเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของบัฟเฟตต์นั้นน่าจะอยู่ประมาณล้านเหรียญเศษ ๆ  ซึ่งในความคิดผมก็คือมากพอสมควรในยุค 60 ปีก่อน  พูดง่าย ๆ  ดวงแก้วดวงแรกของบัฟเฟตต์นั้น  ไม่ได้สว่างมากแต่ก็ไม่เลวทีเดียว  คนทั่วไปที่มีความสามารถสูงและประหยัดอดออมก็น่าจะสามารถทำได้

ดวงแก้วดวงที่สองหรือผลตอบแทนทบต้นต่อปีของการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นต้องถือว่าสว่างไสว “สุดยอด”  หาคนเทียบได้ยาก  อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตที่ผมพบว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ของการลงทุนนั่นก็คือ  ความสว่างไสวนั้นจะค่อย ๆ  ลดลงเมื่อพอร์ตหรือเม็ดเงินลงทุนโตขึ้น  สถิติผลตอบแทนการลงทุนในช่วงแรกของบัฟเฟตต์คือช่วงที่กองทุนยังจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์ตั้งแต่ปี 1957-1969 เป็นเวลา 13 ปีนั้น  บัฟเฟตต์ทำผลงานได้ถึงปีละ 29.5% แบบทบต้นซึ่งถือว่าเป็นผลงาน “สุดยอด”  อย่างไรก็ตาม  สถิตินี้ผมคิดว่า VI ไทยจำนวนไม่น้อยสามารถทำได้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 1970-1989 เป็นเวลา 20 ปีนั้น  เครื่องมือที่ใช้ในการลงทุนของบัฟเฟตต์ก็คือบริษัทเบิร์กไชร์แฮทเธอเวย์  บัฟเฟตต์สามารถลงทุนทั้งแบบเทคโอเวอร์ธุรกิจและซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และทำผลตอบแทน  “ยอดเยี่ยม”  ถึงปีละประมาณ 22% แบบทบต้น  นี่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานและด้วยเม็ดเงินจำนวนมากซึ่งผมคิดว่าจะหาคนที่สามารถทำได้ยากมาก  และในช่วงปลายยุคนี้ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็น  “ซุปตาร์” ของวงการลงทุน  เป็นทั้งเซียนและคนที่รวยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศและของโลก

ตั้งแต่ปี 1990 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 28 ปีนั้น  บัฟเฟตต์มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลและกลายเป็น “เซเล็บ”  ในแวดวงการลงทุนและในหมู่ประชาชนทั่วไปไม่มีใครไม่รู้จักบัฟเฟตต์  การเคลื่อนไหวต่าง ๆ  ของบัฟเฟตต์เป็นที่จับตามองของสื่อ  บทบาทของบัฟเฟตต์ก็คือการเป็น  “ผู้นำมากบารมีของนักธุรกิจและนักลงทุน”  อย่างไรก็ตามเขาก็ยังลงทุน “เต็มร้อย” แม้ด้วยวัยที่สูงถึง 85 ปีแล้ว  สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ  ผลงานของบัฟเฟตต์ก็ยังดีเยี่ยมที่ประมาณ 14.6%  ต่อปีแบบทบต้น  ตัวเลขนี้หลายคนโดยเฉพาะนักลงทุนรายเล็กของเมืองไทยอาจจะมองว่าไม่สูง  แต่ความจริงก็คือมันสูงมากถ้ามองว่าเป็นผลตอบแทนระยะยาวเกือบ 30 ปีและด้วยพอร์ตขนาดมหึมา

ถ้ามองการเติบโตของเม็ดเงินในแต่ละช่วงของกองทุนของบัฟเฟตต์โดยคิดว่าเขามีเงินเริ่มต้น 1 ล้านเหรียญ  ในช่วงแรกความมั่งคั่งของเขาก็จะกลายเป็น 28.8 ล้าน  พอสิ้นสุดช่วงที่สอง  ก็จะกลายเป็น 1537.2 ล้าน  จนถึงปัจจุบันที่อยู่ในช่วงที่ 3 ก็กลายเป็น ประมาณ 70,000 ล้านเหรียญ   ถ้าคิดผลตอบแทนตลอดทั้ง 3 ช่วงเป็นเวลาประมาณ 61 ปี  ผลตอบแทนที่บัฟเฟตต์ทำได้ก็อยู่ที่ประมาณ 20% ต่อปีแบบทบต้นโดยที่ความผันผวนปีต่อปีที่รวมถึงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นแทบจะไม่มีผลอะไรต่อผลตอบแทนระยะยาวและความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์เลย

สิ่งสำคัญที่แทบจะไม่แพ้ผลตอบแทนต่อปีของการลงทุนหรือแก้วดวงที่ 2 ก็คือแก้วดวงที่ 3 หรือระยะเวลาของการลงทุน  บัฟเฟตต์ลงทุนต่อเนื่องมา 61 ปี  โดยที่มีช่วงสั้น ๆ  ประมาณ 2-3 ปีเท่านั้นที่เขา  “ออกจากตลาด” ไปเนื่องจากความกังวลเรื่อง  “ฟองสบู่” ของตลาดหุ้นและคิดว่าตนเองรวยพอแล้วและ “อาจจะมีสิ่งอื่นในชีวิตที่น่าทำกว่า”  ก็ต้องถือว่าบัฟเฟตต์นั้นมีแก้วดวงที่ 3 ที่สุกสว่างมากไม่แพ้แก้วดวงที่ 2  และด้วยแก้ว 3 ดวงที่สว่างไสวมากนี้เองที่ทำให้บัฟเฟตต์ร่ำรวยติดอันดับต้น ๆ  ของโลกมายาวนานกลายเป็น  ตำนานที่ยังมีชีวิตของนักลงทุนเอกของโลก

ประสบการณ์และชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราได้  แน่นอน  เราคงไม่รวยเท่าเขา  แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ  ปรับแก้วทุกดวงของเราให้สว่างพอแม้แต่เพียงเศษเสี้ยวของบัฟเฟตต์แล้ว  ความสำเร็จและความมั่งคั่งก็รอเราอยู่  แม้ว่ามันจะต้องใช้เวลาแต่ถ้ามันเป็นเวลาที่มีความสุขเราก็ไม่ต้องเดือดร้อนกระวนกระวายแม้ว่าบางช่วงบางตอนหุ้นจะ  “ตกลงมาอย่างหนัก”  และทั้งหมดนี้ผมก็พูดเพื่อปลอบและเตือนใจให้ทุกคนทำตัวให้สบายในกรณีที่หุ้นตกหนัก  จำไว้ว่า  “แล้วมันก็จะผ่านไป”