เปลี่ยนปัญหาใกล้ตัว ด้วยปัญญาของเรา

เปลี่ยนปัญหาใกล้ตัว ด้วยปัญญาของเรา

ปัญหา หรือ problem เป็นอะไรที่ใกล้ตัวเรามากๆ ไม่มีใครไม่มีปัญหา และไม่มีใครไม่เคยบ่นหรือพูดถึงมัน

และบางทีเราก็พาตัวเองเข้าไปในปัญหาของคนอื่น นัยว่าอยากจะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น หรือเป็นเดือดเป็นร้อนแทนพวกเขาเหล่านั้น

แต่สำหรับปัญหาใกล้ตัวเรา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงานกับการใช้ชีวิตของเรา และส่งผลกระทบกับเราโดยตรง แทนที่จะบ่นหรือร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ลองเริ่มต้นคิดวิเคราะห์หาสาเหตุ ลงมือแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเอง โดยไม่ปล่อยผ่านหรือยอมรับสภาพอันนั้น ชีวิตและการงานของเราจะราบรื่นขึ้นมาไม่น้อย ทักษะการแก้ปัญหาและการพึ่งพาตัวเองจะค่อยๆแข็งแรงขึ้น ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือสังคมรอบข้าง ปัญหาเล็กๆของแต่ละคน ก็จะไม่กลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด

โดยส่วนตัวผมชอบวิธีคิดของคุณตูน บอดี้สแลม จากก้าวคนละก้าว ที่ว่า ให้ทุกคนลุกขึ้นมาวิ่งหรือออกกำลังกายอะไรก็ได้ที่ง่ายๆ ไม่ต้องใช้จ่ายเงินมากมาย และทำได้ในทันที ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้สุขภาพร่างกายของทุกคนแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ และไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุข ลดงานของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่สำคัญงบประมาณและการดูแลรักษาพยาบาลคนป่วยก็จะลดน้อยลง

ในระบบการทำงานไม่ว่าจะองค์กรใดๆก็ตาม การป้องกันดีกว่าการแก้ไขเสมอ ด้วยอาชีพที่ปรึกษาด้านการจัดการ จึงเห็นมามากกับองค์กรที่ไล่ตามแก้ปัญหาแบบไม่รู้จบ มีปัญหาทั้งใหม่และเก่าให้แก้ไขมากมาย ปัญหาเดิมๆแก้แล้วแก้อีกวนเวียนซ้ำๆ จนมีความรู้สึกว่าองค์กรนั้นๆเสียเวลาไปกับการแก้ปัญหาซ้ำซาก แทนที่จะเอาเวลาไปผลิตสินค้าเพื่อหารายได้เข้าองค์กร ทั้งๆที่โลกสมัยใหม่ ณ วันนี้ เค้าพูดถึงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์กันแล้ว นั่นหมายความว่าเขาเอาเวลาไปคิดอะไรใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ไม่มามัวเสียเวลาอยู่กับสินค้าเดิมๆที่นับวันจะด้อยค่าและราคาตกลงไปเรื่อยๆ

พนักงานใหม่ในองค์กรแห่งหนึ่ง เพิ่งเริ่มต้นก้าวเข้าไปในองค์กรที่ค่อนข้างใหญ่ มีจำนวนพนักงานค่อนข้างมากร่วมพันคน มีตึกสูงตระหง่าน ธุรกิจและธุรกรรมเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก และต้องประสานการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆภายนอกอีกมากมาย ที่สำคัญเป็นองค์กรด้านการเงินที่สำคัญระดับประเทศ สิ่งที่พนักงานใหม่คนนี้เจอในช่วงเดือนแรกๆ ก็คงเหมือนกับพนักงานใหม่ทั่วไปคือ ยังรู้จักคนไม่มาก ยังไม่เข้าใจองค์กรและงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบนัก ดูเหมือนพนักงานเก่าๆก็ยุ่งวุ่นวายอยู่กับภาระหน้าที่ของแต่ละคน ไม่ค่อยมีใครมาสนใจเด็กใหม่ การต้อนรับอาจจะอบอุ่นหรือโดดเดี่ยวบ้างแล้วแต่ผู้คนและวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ เต็มที่ก็พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ใกล้กัน

แม้ว่าจะมีระบบอินทราเน็ตที่ไว้ดูข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆภายในองค์กร ตลอดจนประกาศต่างๆที่ต้องการให้พนักงานทุกคนรับรู้รับทราบ แต่ทุกวันที่เข้าไปก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ข้อมูลบางส่วนก็เก่าเสมือนไม่ได้แก้ไขมานาน จนดูเหมือนว่าสิ่งที่อยู่ในนั้นกับโลกความเป็นจริงช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ไฟล์ไดเรกทอรี่แบบ Excel ที่ใช้แจ้งบอกว่ามีใครบ้างในองค์กร อยู่แผนกไหน เบอร์ติดต่ออะไร ทำไมไม่มีชื่อเราที่เป็นพนักงานใหม่ ทำไมพนักงานเก่าที่ลาออกไปแล้วยังมีชื่ออยู่ ทำไมบางคนย้ายแผนก ย้ายฝ่าย ย้ายโต๊ะทำงาน และที่สำคัญเปลี่ยนเบอร์ติดต่อภายในใหม่แล้ว จึงยังเป็นข้อมูลเดิม ด้วยพนักงานจำนวนมาก การติดต่อพูดคุยหารืองานกัน ถ้าไม่ส่งอีเมล์ก็จะเป็นการคุยกันทางโทรศัพท์ แต่ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้น หลายคนที่เพิ่งคุยงานกัน แต่มาเจอกันที่หน้าลิฟท์หรือเดินสวนกันในอาคารสำนักงาน กลับไม่รู้จักกัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพิ่งคุยโทรศัพท์กันเมื่อครู่นี้เอง

สิ่งที่พนักงานใหม่คนนี้คิดได้ก็คือ ทำไมเราไม่จัดการข้อมูลพนักงานในรูปของไฟล์ฐานข้อมูล ที่สามารถใส่รายละเอียดชื่อ-สกุล ชื่อเล่น ชื่อแผนก/ฝ่าย ตำแหน่งงาน เบอร์โทรศัพท์ภายใน อีเมล์แอดเดรส ชั้นที่ทำงาน รวมไปถึงรูปภาพของแต่ละคน ที่สำคัญคือข้อมูลต่างๆเหล่านั้นสามารถปรับปรุงให้ทันสมัยได้ง่าย เมื่อมีใครก็ตามที่ย้ายแผนก ย้ายสถานที่ทำงาน เปลี่ยนเบอร์โทรติดต่อ ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือหมุนเวียนไปทำงานในตำแหน่งอื่นๆ ก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทันทีด้วยตัวเอง ยิ่งมีระบบสืบค้นเข้าช่วยด้วย ทำให้หาคนที่เราต้องการได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะค้นจากชื่อจริง ชื่อเล่น หรือดูรายชื่อทั้งหมดของแผนก/ฝ่ายนั้นๆ

เมื่อคิดได้เช่นนั้น พนักงานใหม่ที่ยังไม่มีอะไรทำมากนัก ก็เดินตรงไปคุยกับแผนก HR พร้อมกับขายไอเดีย และด้วยความสามารถที่พอเขียนโปรแกรมได้บ้างไม่ถึงขั้นมืออาชีพ ก็อาสาจะทำให้ เพียงขอรูปภาพและข้อมูลเท่านั้น ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ฐานข้อมูลง่ายๆก็เสร็จสมบูรณ์ เริ่มทดลองใช้ และก็มีเสียงตอบรับว่าดีมีประโยชน์ ที่เหลือก็แค่ประชาสัมพันธ์ให้รับรู้กันทั่วไป ให้ทุกคนรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลของตัวเอง เสียงบ่นของทุกคน ก็ค่อยๆจางหายไปในที่สุด

ยังมีตัวอย่างอีกมากที่เราสามารถจะทำได้ในองค์กรของเรา โดยเฉพาะ SMEs การนำระบบไอทีง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หรือรู้จักใช้ Software tools ใหม่ๆที่เราสามารถจะพัฒนาระบบงานเล็กๆ ขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรม (Coding) เลยสักนิด มาเป็น SME 4.0 กันเถอะ แม้ว่าหลายองค์กรจะอยู่แค่ 2.0 ก็ตาม ถ้าไม่เริ่มเสียแต่วันนี้ 3.0 ก็คงเป็นแค่ฝัน หรือปัญหาให้เราบ่นกันต่อไป