ทำไมบางประเทศถึงล้มเหลว

ทำไมบางประเทศถึงล้มเหลว

หนังสือเรื่อง Why Nations Fail โดยอาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอเมริกัน 2 คน (Daron Acemogll และ Jame A. Robinson)

วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมืองประเทศต่างๆ ในยุคต่างๆ แบบเปรียบเทียบประเด็นความสำเร็จและล้มเหลวน่าสนใจ และมีเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงมาจนถึงยุคปัจจุบัน คนไทยน่าจะได้อ่าน และนำแนวคิดของผู้เขียนและประสบการณ์ของบางประเทศมาช่วยเป็นบทเรียนสำหรับไทย ซึ่งยังคงมีปัญหาและในยุคนี้มีความเสี่ยงว่าจะล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอยู่มาก

หนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยใช้ชื่อว่า กู้วิกฤตชาติ บทเรียนสะเทือนโลก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บิงโก เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมืองของประเทศที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคสมัยต่างๆ แบบเปรียบเทียบกันเป็นคู่ๆ เช่น อังกฤษกับฝรั่งเศส และโยงไปสู่ประเทศอื่นในยุคเดียวกัน ทวีปเดียวกัน ผู้เขียนเลือกเรื่องเล่าอย่างเป็นรูปธรรม เห็นภาพชัด อ่านสนุก ขณะเดียวกันก็เลือกใช้ข้อมูลอธิบาย/วิเคราะห์ให้เข้ากับทฤษฎีที่ผู้เขียนเสนอว่ามีปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองที่สำคัญอะไรที่พวกเขาเชื่อว่าทำให้บางประเทศสำเร็จ บางประเทศล้มเหลว

ผู้เขียนเสนอว่าสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยเปิดกว้างคือปัจจัยหลักในการทำให้ประเทศประสบความสำเร็จ ขณะที่สถาบันเศรษฐกิจและการเมืองแบบขูดรีด ทำให้บางประเทศล้มเหลว คำว่าสถาบันเศรษฐกิจเปิดกว้าง เขาหมายถึงการมีระบบป้องกันกรรมสิทธิ์เอกชน การให้แรงจูงใจเอกชนในการประกอบการ และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มีการแข่งขัน ซึ่งต้องตั้งอยู่บนสถาบันการเมืองที่เปิดกว้าง มีการกระจายอำนาจไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง แบบพหุนิยม (Pluralism) - การยอมรับว่าสังคมประกอบด้วยคนหลายกลุ่มที่ควรอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์

ขณะเดียวกันประเทศที่ประสบความสำเร็จมักมีการบริหารแบบรวมศูนย์ทางการเมืองมากพอที่รัฐจะบังคับใช้ระเบียบกฎหมายที่ค่อนข้างเป็นธรรม (ใช้กับทุกคน ไม่ยกเว้น) ที่จะวางรากฐานให้ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนกับระบบเศรษฐกิจตลาดที่มีการแข่งขันดำเนินต่อไปด้วยดี

เขาวิเคราะห์ว่าสถาบันเศรษฐกิจการเมืองแบบขูดรีดคือปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศล้มเหลว แม้สถาบันเศรษฐกิจการเมืองที่ขูดรีด ในบางประเทศ ในบางยุคสมัย อาจจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้นเจริญเติบโตได้ระดับหนึ่งด้วยปัจจัยเสริมอื่นๆ แต่พอถึงจุดๆ หนึ่ง เศรษฐกิจของประเทศก็จะหยุดชะงัก ไม่อาจเจริญเติบต่อได้

กรณีตัวอย่างในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศต่างๆ ที่ผู้เขียนยกมาอธิบายอาจจะสอดคล้องกับทฤษฎีที่ผู้เขียนเสนอได้ค่อนข้างดี เช่น ความแตกต่างระหว่างอเมริกาเหนือที่มีการพัฒนาสถาบันเศรษฐกิจการเมืองแบบเปิดกว้าง (กระจายทรัพย์สินรายได้ให้คนส่วนใหญ่) และอเมริกาใต้ที่มีสถาบันเศรษฐกิจการเมืองแบบขูดรีด (อำนาจความมั่งคั่งอยู่ในมือชนชั้นนำส่วนน้อย) ทั้งในยุคอาณานิคมสเปนเข้าไปยึดครอง และในยุคหลังอาณานิคมที่รัฐบาลในอเมริกาใต้แต่ละประเทศเองก็ยังคงเป็นพวกเผด็จการชนชั้นสูงที่ขูดรีด แม้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนก็เป็นการเลือกตั้งที่ส่วนใหญ่คนชั้นสูงใช้อำนาจและทุจริตฉ้อฉลเข้ามาเป็นรัฐบาล

ผู้เขียนยังอธิบายความสำเร็จในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมแบบเปิดกว้างของอังกฤษเปรียบเทียบกับสเปน ยุโรปตะวันออกที่เป็นระบบศักดินาที่ขูดรีดและล้าหลังกว่าอังกฤษได้ดี

การยกตัวอย่างและอธิบายปัญหาของบางประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกาและตะวันออกกลางที่รัฐล้มเหลว เพราะมีชนเผ่าและกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันมาก ก็อธิบายได้อย่างน่าสนใจ

ในทวีปเอเชีย ผู้เขียนกล่าวเปรียบเทียบระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนิดหน่อย และกล่าวถึงเอเชียอาคเนย์ เช่น เกาะโมลุคกะ อินโดนีเซีย และพม่า ตอนที่เนเธอร์แลนด์มายึดครองอาณานิคมและขูดรีดการค้าเครื่องเทศที่เจริญรุ่งเรือง ทำให้คนพื้นเมืองไม่มีแรงจูงใจในการผลิตต่อไป ไว้ได้อย่างน่าสนใจที่จะวิเคราะห์ต่อ เรื่องกษัตริย์จีน อินเดีย ไม่ส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการเดินทางทะเลทางไกล เพราะกลัวว่าตนเองจะสูญเสียอำนาจ และผลประโยชน์ ผู้ปกครองแบบทรราช/เผด็จการในหลายประเทศมีปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้ประเทศเหล่านั้นเจริญเติบโตได้จำกัด และล้มเหลวในการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมในระยะต่อมา

ผู้เขียนวิจารณ์ระบบฟิวดัล (ศักดินาในยุโรป ตะวันออกกลาง จีน ฯลฯ และระบบอาณานิคมที่ขูดรีด ด้วยจุดยืนของพวกเสรีนิยมก้าวหน้า แต่ผู้เขียนสรุปอย่างง่ายๆ ไปหน่อยที่จัด 2 ระบบนี้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกับประเทศคอมมิวนิสต์หรืออดีตคอมมิวนิสต์ เช่น โซเวียตรุสเซีย จีน ผู้เขียนอธิบายว่าหลังจากเปิดตลาดเสรีเท่านั้น รุสเซียและจีน จึงเริ่มเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง และเขาคิดว่าจีนในยุคปัจจุบันคงจะเจริญต่อไปได้จำกัด เพราะสถาบันการเมืองของจีนยังคงเป็นแบบขูดรีดอยู่

ความจริงแล้วรุสเซียและจีน ในยุคที่เป็นสังคมนิยมก่อนเปิดตลาดเสรีนั้น มีการลงทุนด้านการศึกษา การสาธารณสุขและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมด้านต่างๆ แบบกระจายไปอย่างกว้างขวาง เป็นการลงทุนพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรัฐไว้ค่อนข้างมาก (ต่างจากระบบศักดินาและอาณานิคม) ดังนั้นพอรุสเซียจีนปรับเปลี่ยนเป็นตลาดเสรี จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำพวกเขาเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ประเทศอย่างกลุ่มทอร์ดิก/สแกนดิเนเวียที่ผู้เขียนไม่เอ่ยถึงเลยนั้น ในทัศนะผม ประเทศเหล่านี้ ซึ่งใช้นโยบายสังคมนิยมประชาธิปไตย/รัฐสวัสดิการควบคู่ไปกับการเปิดตลาดที่มีการแข่งขันนั้นๆ พัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นธรรมยั่งยืนมากกว่าสหรัฐฯ อังกฤษ ที่ผู้เขียนชื่นชม

โยงกลับมาถึงกรณีของไทยที่เราต้องวิเคราะห์ตัวเอง เพราะผู้เขียนไม่ได้พูดถึงไว้ ในแง่เศรษฐกิจก็เป็นตลาดเสรีอยู่ แต่ยังมีลักษณะผูกขาดและขูดรีด มีความยากจนโดยเปรียบเทียบอยู่มาก และที่ไทยเจริญเติบโตต่อได้ยาก เพราะไม่มีสถาบันทางการเมืองที่เปิดกว้างหรือเป็นเสรีประชาธิปไตยที่กระจายอำนาจการต่อรองให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ มากเพียงพอ เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าพวกคสช. และทีมงานที่โฆษณาจะสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัยเป็นยุค 4.0 ตามแบบคนอื่นนั้น ไม่เข้าใจเรื่องความจำเป็นของการพัฒนาสถาบันทางการเมืองแบบเสรีใจกว้างมากพอ ดังนั้นจึงคงคาดหวังจากพวกเขาไม่ได้ โอกาสที่ไทยจะปฏิรูปสถาบันทางการเมืองได้ อยู่ที่ภาคประชาชนไทยว่าจะตื่นตัวมากแค่ไหน และควรเข้าใจด้วยว่าการจะปฏิรูปสถาบันทางการเมืองนั้นต้องแสวงหาแนวทางปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมให้เป็นเสรีประชาธิปไตยแบบเปิดกว้างไปพร้อมกันด้วย