เงินดอลลาร์ น้ำมัน และตะวันออกกลาง

เงินดอลลาร์ น้ำมัน และตะวันออกกลาง

เมื่อเร็วๆนี้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) รุ่นที่ 331 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการดีๆ

จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่พัฒนาผู้ประกอบการ ไม่เพียงแต่เฉพาะด้านความรู้ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ ทุกท่านล้วนกังวลในสิ่งเดียวกัน คือ”ความผันผวนทางเศรษฐกิจ” ทั้งด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เกิดจากทุนนอกไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง และความผันผวนที่ว่านี้เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปฐมเหตุ

เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศมหาอำนาจในยุโรปอ่อนเปลี้ยเพลียแรงจากภัยสงคราม จึงตกลงปลงใจใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลกในการค้าขายระหว่างประเทศ ดังนั้นเงินตราสกุลต่างๆ จึงผูกไว้กับเงินดอลลาร์ และเงินดอลลาร์ก็ผูกไว้กับทองคำอีกทีหนึ่ง โดยกำหนดไว้ที่ 35 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ออนซ์ ถ้าหากประเทศใดไม่ยินดีที่จะถือครองเงินดอลลาร์อีกต่อไป ก็สามารถแลกเปลี่ยนเป็นทองคำเมื่อไหร่ก็ได้ ระบบนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ Bretton Woods

หัวใจของระบบนี้ก็คือ”ความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินดอลลาร์” และแน่นอนว่าชาวอเมริกาย่อมได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะสามารถใช้เงินสกุลของตัวเองได้ทั่วโลก อีกคนที่จะได้ประโยชน์ก็คือรัฐบาล

Jerry Robinson กล่าวว่าจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตย คือ ความหย่อนยานในวินัยการเงินการคลัง เพราะคงไม่มีรัฐบาลชุดใด เลือกที่จะลดสวัสดิการของประชาชนเพื่อรักษาดุลงบประมาณเป็นแน่ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลสหรัฐ ซึ่งในบรรดาช่องทางการระดมทุนของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น การปรับเพิ่มอัตราภาษี การขายพันธบัตรให้ประชาชน การขายพันธบัตรให้ธนาคารพาณิชย์ หรือขายพันธบัตรให้ต่างประเทศ ล้วนแต่มีต้นทุนทั้งสิ้น ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐจึงเลือกที่จะขายพันธบัตรให้กับธนาคารกลาง หรือพูดง่ายๆก็คือการพิมพ์เงินเพิ่ม เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น

ในช่วงทศวรรษปี 1960 รัฐบาลสหรัฐมีค่าใช้จ่ายสูงมากอันเกิดจากสงครามเวียดนาม และปฏิรูประบบประกันสุขภาพภายใต้โครงการ Medicaid และ Medicare ซึ่งเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ ด้วยค่าใช้จ่ายที่มากมายเช่นนี้ลำพังเพียงเงินภาษีคงไม่เพียงพอ จึงต้องระดมทุนผ่านการกู้ยืมจากธนาคารกลางนั่นเอง

ซึ่งการพิมพ์เงินออกมาเช่นนี้ จะทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์ในสหรัฐเพิ่มขึ้นและส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อในที่สุด แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นกับสหรัฐ เพราะอย่าลืมว่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนทั่วโลก ดังนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐจึงเป็นที่ต้อนรับของคนทั้งโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความต้องการถือครองเงินดอลลาร์คือคนทั้งโลก จึงสามารถดูดซับปริมาณเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้อย่างลงตัว โดยไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐ

แต่ทว่าสหรัฐยังมีข้อตกลงอีกอย่างคือต้องธำรงเงินดอลลาร์ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อทองคำ 1 ออนซ์ ดังนั้นการพิมพ์เงินเพิ่มเช่นนี้ย่อมทำให้สัดส่วนดังกล่าวเปลี่ยนแปลง แต่คำถามคือ”แล้วใครจะไปรู้?” ตราบเท่าที่คนทั้งโลกยังเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์

แต่ของฟรีย่อมไม่มีในโลกเมื่อสงครามเวียดนามส่อเค้าว่าจะบานปลาย และยังสร้างปัญหาการเมืองภายในสหรัฐกอปรกับค่าใช้จ่ายภาครัฐที่สูง จึงส่งผลให้สหรัฐประสบปัญหาขาดดุลการค้ายืดเยื้อเรื้อรัง จนสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก เมื่อโลกเริ่มกังขาเงินดอลลาร์ ระบบ Bretton Woods ก็เริ่มสั่นคลอน หลายประเทศเริ่มทิ้งเงินดอลลาร์และขอแลกเปลี่ยนเป็นทองคำ และเหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นและมากขึ้น จนในปี 1971 ประธานาธิบดี Ricard Nixon จึงประกาศปิดหน้าต่างการแลกเปลี่ยนทองคำ ระบบ Bretton Woods จึงเป็นอันสิ้นสุดลง

ภายหลังการล่มสลายของระบบ Bretton Woods ประเทศที่พัฒนาแล้ว 10 ประเทศ หรือ G-10 ร่วมปรึกษาหารือเพื่อหาทางออก จึงเป็นที่มาของข้อตกลง Smithsonian Agreement ที่ระบุให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอยู่ที่ 38 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ออนซ์ ในขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นแข็งค่าขึ้น แต่แล้วข้อตกลงดังกล่าวก็ล้มเหลวลงเพราะ ธนาคารกลางและรัฐบาลสหรัฐไม่สามารถธำรงสัดส่วนเงินดอลลาร์ต่อทองคำไว้ได้ จึงส่งผลให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว

ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือสหรัฐอเมริกา เพราะค่าใช้จ่ายอันมากมายนั้นรัฐบาลสหรัฐไม่สามารถปรับลดลงได้ ใครจะกล้าเสี่ยงที่จะลดสวัสดิการของประชาชนในสนามประชาธิปไตย ดังนั้นการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อการใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อเงินดอลลาร์ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้แล้วโลกทำไมจึงต้องถือครองเงินดอลลาร์อีก ดังนั้นการพิมพ์เงินเพิ่มจึงสร้างความเสี่ยงให้สหรัฐอเมริกาเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ

หากดูผิวเผินแล้ว ปัญหาของสหรัฐนั้นเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาความวุ่นวายในตะวันกลางเลย แต่จุดที่เชื่อมสองอย่างเข้าด้วยกันก็คืออิสราเอล สหรัฐให้การสนับสนุนอิสราเอลก็เพื่อสกัดอิทธิพลของโซเวียตไม่ให้เข้าสู่ตะวันออกกลาง แต่ทว่าการถือกำเนิดขึ้นของอิสราเอลกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อโลกอาหรับ ซาอุดิอาระเบียในฐานะพี่ใหญ่แห่งตะวันออกกลางจึงลดการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อเป็นการตอบโต้การแทรกแซงของสหรัฐในปี 1973 ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่สหรัฐได้รับจาก OPEC หลังจากนั้นสหรัฐจึงเจรจากับซาอุและใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างความต้องการเงินดอลลาร์อีกครั้งหนึ่ง สหรัฐยื่นข้อตกลงให้กับซาอุว่าต้องขายน้ำมันในรูปของเงินดอลลาร์ และเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน ซาอุต้องนำมาลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐ เพื่อแลกกับการช่วยเหลือทางทหาร หลังจากนั้นหลายประเทศในตะวันออกกลางก็เข้าร่วมกับโครงการนี้ ทำให้เงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการของทั้งโลกอีกครั้งเพื่อแลกกับการซื้อน้ำมัน พูดง่ายๆก็คือสหรัฐสามารถพิมพ์เงินเพิ่มได้อีก โดยที่ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อภายในประเทศ ระบบนี้ Jerry Robinson เรียกว่า “Petrodollar”

สหรัฐทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้กับเงินดอลลาร์ แต่เมื่อความเชื่อมั่นถดถอยลงการแสวงหาสินทรัพย์ใหม่จึงเป็นสิ่งเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือที่มาของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ไทย การเตรียมรับมือและใช้ประโยชน์จากความผันผวนจึงเป็นจำเป็นยิ่งสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่

โดย... วิญญู วีระนันทาเวทย์