สิทธิล้อเลียนการเมือง เป็นของคนไทยทุกคน

สิทธิล้อเลียนการเมือง เป็นของคนไทยทุกคน

การแสดงความเห็นของนิสิตนักศึกษาจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในรูปแบบพาเหรดและแปรอักษรระหว่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีอะไรที่ผู้ปกครองบ้านเมือง จะอ้างได้ว่าเป็นเรื่องของการสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง

รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้เข้ามาเซ็นเซอร์หรือห้ามปรามหรือต่อรอง จึงไม่เกิดภาพอันไม่พึงปรารถนา เหมือนฉากการกระชากลากถูกกันเมื่อปีก่อนหน้านั้น

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งก็น่าจะเห็นว่านักศึกษาไทยนอกจากจะต้องการเสรีภาพในการแสดงความเห็นแล้วก็ยังมีความรับผิดชอบ ไม่มีเหตุนอกลู่นอกทางแต่ประการใด

สำหรับประชาชนอย่างผมต้องชื่นชมในความสวยงาม แหลมคม และสุภาพเรียบร้อย บวกกับการแสดงออกที่นุ่มนวลแต่ชัดเจนของนักศึกษาที่แสดงถึงวุฒิภาวะและความเป็นปัญญาชนอย่างน่าชื่นชม

ความจริงหากอ่านข้อความและรูปต่าง ๆ ที่นำมาร่วมขบวนพาเหรดของนักศึกษา จะเห็นว่าประเด็นที่นำมา “เสียดสี” นั้นไม่เพียงแต่มีเรื่องนาฬิกาเท่านั้น หากยังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาสังคมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เป็น มะเร็งร้ายของสังคมไทยอย่างจริงจังอีกด้วย

สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ของสังคมไทยตระหนักถึงความรับผิดชอบของคนรุ่นตนที่จะต้องใส่ใจกับปัญหาใหญ่ ๆ ที่ผู้ปกครองบ้านเมืองยังไม่สามารถจะแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมได้

สิทธิล้อเลียนการเมือง เป็นของคนไทยทุกคน

การล้อเลียน เสียดสี ประชดประชันอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า satire นั้นเป็นวัฒนธรรมอันสำคัญของสังคมประชาธิปไตยมาช้านานแล้ว

นั่นคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์ขันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในสังคม ที่ตกลงว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเคารพใน “ความรู้สึกที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน” ของสมาชิกในสังคมอย่างเสมอภาคและให้เกียรติต่อกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

รัฐบาลใด หรือผู้มีอำนาจใดที่พยายามจะสกัดกั้นหรือห้ามการแสดงออกซึ่งอารมณ์ขันและการเสียดสีล้อเลียนทางการเมืองและสังคมย่อมเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดและพฤติกรรมเป็นเผด็จการ มุ่งแต่จะรวบอำนาจเป็นของตน และสร้างความหวั่นไหวในหมู่ประชาชน

การเขียนบทความหรือเขียนการ์ตูน หรือทำรายการวิทยุและโทรทัศน์ รวมไปถึงการทำกราฟฟิกที่แสดงออกถึงการล้อเลียนการกระทำหรือคำพูดของผู้มีอำนาจเป็นการตอกย้ำถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกในสังคม

เป็นสิทธิที่ไม่มีใครแย่งชิงหรือระงับยับยั้งได้

ดังนั้นที่มีข่าวล่วงหน้าว่าจะมีการห้ามล้อเรื่องนาฬิกา (ซึ่งต่อมาถูกปฏิเสธ) หากเป็นจริงก็คงจะเป็นความคิดที่ไม่ฉลาดสำหรับคนที่เป็นรัฐบาล

เพราะเท่ากับเป็นการยั่วยุให้ประชาชนแสดงการต่อต้านที่ไปละเมิดสิทธิ์แห่งการแสดงอารมณ์ขันตั้งแต่ยังไม่ได้แสดงออก

ถูกต่อต้านก่อนแสดงออก

ถูกด่าเมื่อถึงคราวแสดงออก

และถูกประณามหลังจากแสดงออก (หากมีการสั่งห้ามจริง)

เห็นหรือไม่ว่าเมื่อเคารพในสิทธิของกันและกันแล้ว ทุกอย่างก็เดินตามแนวทางที่ควรจะเป็น

และไม่มีใครต้องเสียอารมณ์กับใครเลยแม้แต่น้อย