การเมือง “กรรณสูต”

การเมือง “กรรณสูต”

จับเปรมชัยกลางป่า เพราะหลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า เป็นทฤษฎีสมคบคิดหรือเปล่า? มีใครได้ ใครเสียจากกรณีทุ่งใหญ่ภาค 2 บ้าง?

อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ (ไอทีดี) ของตระกูล “กรรณสูต” รับเหมาก่อสร้างงานของภาครัฐ มายาวนานเกือบ 60 ปี ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับ “ผู้มีอำนาจ” ในรัฐบาล ทั้งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

มีงานวิจัยเรื่อง “ก่อสร้างการเมือง-การเมืองก่อสร้าง” ศึกษาโดย นพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง “ทุนก่อสร้าง” กับการเมือง

ตั้งแต่ก่อนปี 2540 จนถึงยุครัฐบาลทักษิณ มีนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองไทยถึง 75 ตระกูล

แยกเป็นไทยรักไทย 36 ตระกูล,ชาติไทย 13 ตระกูล,ชาติพัฒนา (ขณะนั้น) 6 ตระกูล,ความหวังใหม่ (ก่อนรวมกับไทยรักไทย) 5 ตระกูล, เสรีธรรม (ก่อนรวมกับไทยรักไทย) 3 ตระกูล และประชาธิปัตย์ 13 ตระกูล

ปี 2501 อิตาเลียนไทยฯ กระโจนเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้น เป็นช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 จึงทำให้งานพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นเช่น การสร้างทางสายยุทธศาสตร์ในชนบท

หลังจากนั้นมา “หมอชัยยุทธ” ยังคงวางคอนเนกชั่นกับผู้มีอำนาจทุกรัฐบาล เฉพาะช่วงรัฐบาลเลือกตั้งที่ยาวนานมาแต่ปี 2526-2535 “นักการเมืองรุ่นลายคราม” ที่มีบทบาทรับผิดชอบในรัฐบาล ผู้นำตระกูลกรรณสูต ไม่เคยลืมและไม่มองข้าม

พลันที่ “เปรมชัย กรรณสูต” ลูกชายคนสุดท้อง ก้าวขึ้นมาคุมอิตาเลียนไทยฯ เมื่อปี 2530 เปรมชัยเองก็เริ่มสร้างสะพานสัมพันธ์กับ “นักการเมืองรุ่นใหม่” ที่เป็นความหวังว่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในวันข้างหน้า

อย่าได้แปลกใจว่า ยุคสมัยหนึ่งอิตัลไทยจะใกล้ชิด “ทักษิณ” และอีกสมัยหนึ่ง จะบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด

รวมถึงหลังรัฐประหาร 2557 “เปรมชัย” ถูกเรียกเข้ารายงานตัวต่อ คสช. พร้อมกับนักธุรกิจจำนวนหนึ่ง แต่ปีที่แล้ว อิตัลไทยได้งานก่อสร้างจากรัฐบาลประยุทธ์มูลค่านับแสนล้าน

แสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์การรักษาคอนเนกชั่นกับผู้มีอำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่ตระกูลกรรณสูตพึงกระทำ และสืบทอดมาจากหมอชัยยุทธนั่นแล