เมื่อทุกอย่างคือ “คอมเมิร์ซ”

เมื่อทุกอย่างคือ “คอมเมิร์ซ”

เรามักจะคุ้นเคยกับการขายสินค้าหรือบริการแบบ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)หรือเอ็มคอมมิร์ซ (M-Commerce)ซึ่งใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์หรือแอพ สมาร์ทโฟน

 โดยจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นลาซาด้า หรือช้อปปี้ ในกลุ่มของ Consumer-to-Consumer หรือ ซีทูซี และ LOOKSI หรือ Orami ในกลุ่มของ Business-to-Consumer หรือ บีทูซี นี่ยังไม่นับรวมกลุ่มส่งอาหาร ท่องเที่ยว จำหน่ายตั๋ว ร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี ในอนาคตเราจะได้เห็นผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในโลกของ “คอมเมิร์ซ” มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้เล่นจำพวก แชร์ริ่ง อีโคโนมี (Sharing Economy) เช่น แกร๊บ  อูเบอร์ และแอร์บีเอ็นบี หรือผู้เล่นจำพวกโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ และวีแชท ซึ่งความพร้อมและความหลากหลายของเทคโนโลยีการชำระเงินในปัจจุบัน ทำให้ผู้เล่นเหล่านี้สามารถกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดคอมเมิร์ซได้ จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Everything is Commerce” หรือ xCommerce ในที่สุด

ทั้งนี้ การผสมรวมกันระหว่าง อีคอมเมิร์ซ และ เอ็มคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย และแชร์ริง อีโคโนมี จะทำให้เกิดรูปแบบการขายสินค้าหรือให้บริการแบบผสมผสาน (ไฮบริด) มากมาย อาทิเช่น แชร์ริง อีโคโนมี+อีคอมเมิร์ซ และ เอ็มคอมเมิร์ซ โดยมีตัวอย่างที่เด่นชัดคือ บริการอูเบอร์อีสท์ ซึ่งเป็นบริการจัดส่งอาหารจากร้านอาหารต่าง ๆ สู่มือผู้บริโภค ผ่านแพลตฟอร์มของอูเบอร์ โซเชียลมีเดีย+แชร์ริง อีโคโนมี ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีบริการไลน์แมน ซึ่งเป็นบริการส่งสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์แล้ว โดยในอนาคตเราอาจจะได้เห็นบริการในลักษณะแชร์ริง อีโคโนมีในรูปแบบอื่น ๆ จากกลุ่มโซเชียลมีเดียก็เป็นได้ โซเชียลมีเดีย+อีคอมเมิร์ซ และเอ็มคอมเมิร์ซ ซึ่งเห็นได้ชัดจากสิ่งที่เฟซบุ๊ค หรือไลน์ กำลังพยายามจะทำ นั่นคือเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

การเกิดขึ้นของ xCommerce ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว และวางแผนเพื่อลดผลกระทบในแง่ลบ หรือใช้ประโยชน์จาก xCommerce ให้ได้มากที่สุด โดยถึงแม้ว่ายอดขาย “หน้าร้าน” มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่นี่ก็หมายถึงโอกาสในการเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ในการขายสินค้าหรือบริการไปสู่ลูกค้าในจำนวนที่เพิ่มขึ้น และเป็นการมอบประสบการณ์การซื้อที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าได้ ผ่านการเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม xCommerceเหล่านี้

ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เรากำลังอยู่ มีบริษัทเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นที่ยังสามารถประสบความสำเร็จได้โดยอาศัยแค่ตนเอง นั่นทำให้ทุกบริษัทส่วนใหญ่ต้องหาหนทางในการสร้างความร่วมมือกับ “ระบบนิเวศ” ที่ตนอยู่ เพื่อที่จะเติบโตแบบยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 1-2 ปีนี้ ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป