แพลตฟอร์มของโลกยุคใหม่

แพลตฟอร์มของโลกยุคใหม่

แนวโน้มธุรกิจไอทีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการลงทุนด้านไอทีของประเทศไทยขยับขยายไปสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเต็มที่

บริษัทไอทีเกือบทุกรายล้วนมีแพลตฟอร์มของตัวเองให้บริการกับลูกค้า รวมถึงมีมาตรการจำนวนมากจูงใจให้ลูกค้าหันมาใช้ระบบคลาวด์ของตัวเองเป็นหลัก

จากนั้นก็ขยายการลงทุนมาสู่ระบบบิ๊กดาต้า หลังจากเรียนรู้การใช้เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกก็พบว่าข้อมูลมหาศาลที่องค์กรมีอยู่นั้นอาจมีแง่มุมบางอย่างที่เอามาใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ ซึ่งการจะได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจำเป็นต้องอาศัยแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค

ผลที่ได้จึงเกิดเป็นโมบายแอพพลิเคชั่นมากมายหลากหลาย โดยเฉพาะด้านการเงินหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ฟินเทค” ซึ่งไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มใหม่ให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้กับธุรกิจหลากหลายประเภท

การจัดการข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นลำพังแค่ใช้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือ Data Scientist ก็อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน การใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจึงกลายเป็นทางออกสำคัญดังที่เราจะได้เห็นการนำเอาเอไอมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในทุกวันนี้

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีอีกมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใดเราก็จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องเร่งสร้างในทุกวันนี้ก็คือ “แพลตฟอร์ม” ของตัวเองเพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจและธุรกิจต่อลูกค้า

การเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ได้หมายถึงการเป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นแก่ลูกค้าเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจเป็นของตัวเองที่เอื้อให้กับทั้งผู้พัฒนารายอื่นเข้ามาต่อยอดและสร้างธุรกิจไปด้วยกัน ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับบริการที่หลากหลายในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่การจัดอันดับองค์กรธุรกิจที่มูลค่าทางธุรกิจสูงที่สุดในยุคปัจจุบันจึงเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีล้วนๆ ต่างจากในทศวรรษที่แล้วที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านพลังงานและสถาบันการเงินเท่านั้น เพราะการสร้างแพลตฟอร์มสมัยใหม่จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่นั้นสร้างธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลได้ไม่แพ้กัน

บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทที่เราคุ้นเคย ทั้งไมโครซอฟท์ กูเกิล อเมซอน แอ๊ปเปิ้ล ฯลฯ ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจมีสินค้าที่เราจับต้องได้บ้างเช่น คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน แต่เบื้องหลังที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกได้นั้นล้วนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ซอฟต์แวร์ และแพลตฟอร์มที่เป็นระบบนิเวศน์ทางธุรกิจของเขาเอง

ในมุมของผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกว่าราคาแอพพลิเคชั่นที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาเริ่มจาก 1 ดอลลาร์ไปจนถึง 5 ดอลลาร์ หรือราวๆ 30-150 บาทนั้นเป็นภาระมากมายอะไร เมื่อเทียบกับราคาสมาร์ทโฟนที่แพงกว่าหลายเท่า จึงมักกดซื้อแอพลิเคชั่นใหม่ๆ กันโดยไม่ต้องคิดมาก

แต่เมื่อฐานผู้ใช้สมาร์ทโฟนเติบโตขึ้นทั่วโลก จากตัวเลขประมาณการทั้งจากกูเกิลเพลย์(Google Play) สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ แอ๊ปเปิ้ลแอพสโตร์(Apple App Store) สำหรับไอโอเอส ยอดคนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ จึงมากถึงกว่า 9 หมื่นล้านครั้งในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยกูเกิลเพล์จะมียอดดาวน์โหลดสูงกว่า แต่ในแง่รายได้แล้วแอ๊ปเปิ้ลจะทำเงินได้มากกว่า

ที่ผ่านมามูลค่าของโมบายล์แอพพลิเคชั่นจากทั้ง 2 ค่ายจึงสูงเกือบ 2 ล้านล้านบาท หรือ 5.86 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนี่เป็นมูลค่าของตลาดที่ซื้อและขายกันผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มซึ่งไม่มีสินค้าที่จับต้องได้ ไม่มีต้นทุนขนส่ง ไม่มีต้นทุนที่เกิดจากการดำเนินงานของตัวกลางใดๆ

อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของธุรกิจดังกล่าวจึงสูงมากและสร้างความมั่งคั่งให้กับบริษัทเหล่านี้จนแซงยักษ์ใหญ่อย่างสถาบันการเงินและธุรกิจน้ำมันที่ครองแชมป์มานานหลายสิบปี