เมื่อ “หมวกไหมพรม” ช่วยสังคมได้มากกว่าที่คิด

เมื่อ “หมวกไหมพรม” ช่วยสังคมได้มากกว่าที่คิด

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่านฉบับนี้ดิฉันขอเล่าถึงกิจการเพื่อสังคมเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์

ที่ใช้วิธีการง่ายๆ ที่ทำกันมานานแล้วอย่างการ ถักนิตติ้งเพื่อเป็นแหล่งรวมตัวกันทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมค่ะ

กลุ่มสตรีรอบๆ เมืองโอ๊คแลนด์จะมารวมตัวกันทุกวันพุธเช้าที่ร้านกาแฟ เพื่อรับไหมพรมจาก แคลร์ คอนซาผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ที่มีชื่อว่า Make Give Live ที่มีสมาชิกเป็นสุภาพสตรีประมาณ 40 คน เพื่อมาร่วมกันถักหมวกไหมพรม โดยจะถักแบบนิตติ้งหรือโครเชต์ก็ได้ภายใต้ใช้คอนเซ็ปต์ ซื้อหนึ่ง ให้หนึ่งกลุ่มสมาชิกจะมาพบกันสัปดาห์ละครั้ง หรือสองสัปดาห์ครั้ง สมาชิกที่ถักหมวกไหมพรมเสร็จ จะนำหมวกนั้นมาแลกกับไหมพรมและวิธีการถักหมวกอันใหม่ เพื่อให้พวกเธอทำกลับไปทำและนำมาส่งอีกในครั้งถัดไป

โดยหลังจากที่ก่อตั้งมาประมาณ 1 ปีครึ่ง Make Give Live ได้จำหน่ายหมวกไหมพรมออกไปแล้วกว่า 400 ชิ้นทางออนไลน์ผ่านเวบไซต์ www.makegivelive.com รวมถึงการจำหน่ายตามตลาดค้าปลีกต่างๆ ส่วนหมวกไหมพรมอีก 250 ชิ้นได้น้ำไปมอบให้ผู้ไร้บ้าน หรือผู้สูงอายุ ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรการกุศลในนิวซีแลนด์อย่าง Lifewise และ Age Concern ซึ่งจะมีการบริจาคให้เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่สำหรับผู้ก่อตั้งอย่างแคลร์แล้ว Make Give Live ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจจำหน่ายหมวกไหมพรม แต่เธอเล็งเห็นโอกาสให้ Make Give Live เป็นตัวเชื่อมต่อคนในชุมชน ทำให้ผู้คนโดดเดียวน้อยลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“มันมีความมหัศจรรย์ของการปฏิสัมพันธ์ของคนรุ่นต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มของเรา โดยสมาชิกสูงวัยก็จะมีความชำนาญในการถักนิตติ้งและโครเชต์อย่างมากเพื่อสอนสมาชิกที่อายุน้อยกว่า ส่วนสมาชิกที่อายุน้อยกว่าก็มีวิธีถักแบบใหม่ๆ มาแชร์ รวมถึงมีไอเดียในการสร้างอะไรดีๆ ให้แก่สังคมมาแบ่งปัน” แคลร์ ให้สัมภาษณ์แก่เวบไซต์noted.co.nz

แคลร์ยังบอกอีกว่า กลุ่มสมาชิกถักหมวกไหมพรมเหล่านี้ยังได้รับประโยชน์จากการมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการถักนิตติ้งอีกด้วยโดยข้อดีที่สำคัญคือการเปรียบเสมือนได้ทำ “สมาธิ” จากการเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะ และการมีใจจดจ่อ ทำให้สามารถลดอาการจากความเครียด การซึมเศร้า และความกังวลได้เป็นอย่างดี

เธอยกตัวอย่างตัวเธอเองที่เคยประสบกับความล้มเหลว และต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้าเพื่อผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต เธอก็ได้หันกลับมาลองถักนิตติ้งกับเพื่อนๆ อีกครั้งและมันก็ได้ผล

“เวลาที่เราถักไหมพรมนั้นเหมือนจิตใจได้รับการบำบัดและมีความสงบมาก นอกจากนี้ยังมีความสุขที่ได้สร้างสิ่งที่มีประโยชน์และสวยงาม ซึ่งตอนนั้นฉันก็เลยมาคิดว่าถ้าวิธีนี้ใช้ได้ผลกับตัวเราเอง กับคนอื่นๆ ก็คงได้ประโยชน์ด้วยเหมือนกัน และนั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งMake Give Live ขึ้น” เธอกล่าว “สิ่งที่ดีที่สุดของการก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาคือมิตรภาพที่ทำให้สมาชิกในกลุ่มเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน”

ความท้าทายต่อไปของแคลร์คือการขยายกลุ่มให้กว้างออกไปครอบคลุมทั่วประเทศนิวซีแลนด์ โดยตอนนี้เธอสามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่ทำหน้าที่หลักใน Make Give Liveได้แล้ว และยังสามารถให้วัตถุดิบเป็นไหมพรมสวยๆ มอบให้แก่สมาชิกเพื่อนำไปถักทอหมวกสำหรับตนเองอีกด้วย กิจการเพื่อสังคมก็เหมือนเป็นกึ่งๆ ลูกผสมระหว่างการกุศล และธุรกิจ โดยหัวใจที่ทำให้กิจการเกิดความยั่งยืนได้ เราก็ต้องให้ความสำคัญกับคนที่เกี่ยวข้องทุกคน และให้คุณค่าต่อความพยายามของพวกเขา

อย่างก็ตาม สิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการนี้คือไหมพรมคุณภาพดี แคลร์จึงนำโครงการนี้ไประดมทุนในแคมเปญ Pledge Me เพื่อให้คนเข้ามาสั่งหมวกไหมพรม หรือร่วมบริจาคก็ได้ โดนแคมเปญดังกล่าวสามารถระดมทุนได้ถึง 4,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยเงินบางส่วนยังได้ถูกนำไปใช้ในการ “ถักนิตติ้งเพื่อการบำบัด” ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงาน A Girl Called Hope ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับเยาวชนหญิงที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ การคุกคาม ยาเสพติด โรคซึมเศร้า การทำร้ายตัวเอง หรือแม้แต่การตั้งท้องก่อนวัยอันควรอีกด้วย

แคลร์กล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ ว่าคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมควรมีคือ การมี หัวทางด้านธุรกิจ มี ใจเพื่อการกุศล และมี มือที่พร้อมจะลงมือทำเพื่อสังคมและชุมชนนั่นเองค่ะ