การกลับมาของ "หวาง ฉีซาน" สะท้อนอะไร

การกลับมาของ "หวาง ฉีซาน" สะท้อนอะไร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการเมืองจีนที่น่าจับตามอง คือ ข่าวการกลับคืนสู่เวทีการเมืองของ หวาง ฉีซาน มือปราบคอร์รัปชัน ของสี จิ้นผิง

แต่เดิม หลายฝ่ายนึกว่าหวาง ฉีซานได้เกษียณไปแล้ว ภายหลังจากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ กลับมีข่าวแพร่สะพัดว่า หวางฉีซานน่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดี ในการประชุมสภาประชาชนของจีนที่จะมีขึ้นในเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้

ข่าวนี้สำคัญมาก เพราะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมทางการเมืองของจีน และสะท้อนความเป็นไปได้ในการครองอำนาจต่อของสี จิ้นผิง ในอนาคต

หวาง ฉีซาน อายุ 69 ปี เป็นมือปราบคอร์รัปชันคนสนิทของสี จิ้นผิง ในช่วงปี 2012 - 2017 เขาเป็นหนึ่งใน คณะผู้นำสูงสุด 7 คน ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รับผิดชอบหน่วยวินัยของพรรค รับหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายปราบคอร์รัปชันสุดโหดของสี จิ้นผิง ซึ่งมีการลงโทษวินัยสมาชิกพรรคในช่วง 5 ปี ไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน

การกลับมาของ \"หวาง ฉีซาน\" สะท้อนอะไร

ในช่วงการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายคนจับตามองคือ หวาง ฉีซานในวัย 69 จะยังได้อยู่ต่อในคณะผู้นำสูงสุดชุดใหม่หรือไม่ เพราะตามธรรมเนียมการเมืองของจีนนั้น คณะผู้นำจะเกษียณในวัย 68 ปี 

ผลในการประชุมครั้งนั้น ก็คือ หวางฉีซานไม่ได้อยู่ในคณะผู้นำชุดใหม่ หลายคนเลยนึกว่า เขาคงวางมือทางการเมืองถาวร ดังเช่นผู้นำในอดีตคนอื่นๆ ที่จะเก็บตัวพักผ่อนหลังเกษียณ ไม่แสดงความคิดทางการเมืองและไม่ร่วมกิจกรรมสาธารณะอีกต่อไป

แต่ปรากฏว่า หวาง ฉีซานไม่ได้เกษียณจริง เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สภาประชาชนมณฑลหูหนาน ได้ออกข่าวว่า หวาง ฉีซานได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ (ด้วยโควตาของมณฑลหูหนาน) เพื่อจะเข้าร่วมประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในเดือนมี.ค. (สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติของจีนมีจำนวนกว่า 3,000 คน โดยตัวแทนจากหูหนานมีจำนวน 118 คน)

เรียกว่าเป็นการฉีกธรรมเนียมการเมืองของจีนเลยทีเดียวครับ เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้นำพรรคที่เกษียณไปแล้วทุกคน ไม่มีใครได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาประชาชนอีกต่อไป

การที่หนังสือพิมพ์ในจีนทุกฉบับต่างรายงานข่าวนี้ จึงนับว่าเป็นข่าวที่มีความหมายสำคัญ นักวิเคราะห์หลายคนคาดหมายว่า หวาง ฉีซานเป็นตัวเต็ง ที่จะได้รับเลือกจากสภาฯ ในเดือนมี.ค. ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของจีน 

ตำแหน่งรองประธานาธิบดีมีบทบาทแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ขึ้นอยู่กับการมอบหมายงานของประธานาธิบดี 

ในช่วงที่หู จินเทายังเป็นผู้นำพรรคอยู่นั้น สี จิ้นผิงก็เคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยที่ทุกคนทราบดีว่าสี จิ้นผิงเป็นทายาททางการเมืองของหู จินเทา 

สี จิ้นผิงในสมัยนั้น จึงถือว่าเป็นรองประธานาธิบดีที่มีบทบาทมาก แต่อย่างรองประธานาธิบดีจีนในปัจจุบันคือ หลี่ หยวนเชา กลับแทบไม่มีบทบาททางนโยบายอะไร สี จิ้นผิงมอบหมายให้เขาเป็นตัวแทนดูแลรับรองประมุข และแขกต่างชาติเป็นหลัก รวมทั้งตัดริบบิ้นเปิดงานต่างๆ

ตัวหวาง ฉีซานน่าจะเป็นรองประธานาธิบดีที่มีบทบาทมาก เพราะเขาได้รับการยอมรับอย่างสูงทั้งในและนอกประเทศ 

เขามีประสบการณ์หลากหลายทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เขาเคยเป็นผู้บริหารธนาคารเพื่อการก่อสร้างของจีน รองผู้ว่ามณฑลกว่างตง เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐในสมัยนายกฯ จู หรงจี และเป็นผู้ว่าฯ ปักกิ่ง (ตอนที่เกิดวิกฤติเชื้อไวรัส SARS และเตรียมการจัดโอลิมปิก) 

เขายังเป็นรองนายกฯ รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจช่วง ปี 2008 - 2013 (ตรงกับวิกฤติการเงินโลกพอดี) ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 7 คณะผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ และได้รับความไว้วางใจจากสี จิ้นผิงให้ดูแลงานปราบคอร์รัปชันในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา

หลายคนคาดเดาว่า สี จิ้นผิงคงมอบหมายให้หวาง ฉีซานช่วยดูแลงานด้านการปราบคอร์รัปชันต่อไป โดยเดินหน้าปฏิรูปให้ระบบการปราบคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพและเป็นทางการมากขึ้น (มีข่าวว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายใหม่ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานด้านการปราบคอร์รัปชันแห่งใหม่ขึ้นมา) 

นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า หวาง ฉีซานยังน่าจะเป็นตัวช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ เพราะเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจ และผู้นำระดับสูงของสหรัฐ จากประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจในอดีต

การกลับคืนสู่เวทีการเมืองของหวาง ฉีซาน และการวางตำแหน่งทางการให้แก่เขา จึงเป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำจีน แม้ตอนแรกดูเหมือนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะยังยึดธรรมเนียมเกษียณเดิมของคณะผู้นำสูงสุดอยู่ แต่สุดท้ายตัวหวางฉีซานกลับไม่ได้เกษียณจริง ยังคงมีบทบาทในระบบทางการของรัฐต่อไป

ในการเลือกคณะผู้นำสูงสุดของจีนเมื่อเดือนต..ปีที่แล้ว ไม่มีการวางตัวทายาททางการเมืองรุ่นต่อไปไว้อย่างแน่นอน สะท้อนว่าสี จิ้นผิงต้องการสร้างความไม่ชัดเจนว่า เขาจะยังต้องการเป็นผู้นำสูงสุดต่อไป หลังจากครบวาระสมัยที่ 2 ในปี 2022 หรือไม่

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า อาจเพราะสี จิ้นผิงเห็นว่า ตอนที่หู จินเทาเลือกเขามาเป็นทายาททางการเมืองในสมัยที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งนั้น ผลที่ตามมาคือ หูจินเทาถูกรอนอำนาจลงมาก ข้าราชการเริ่มปล่อยเกียร์ว่าง เพราะทุกคนรู้ว่าหู จินเทาอย่างไรก็อยู่อีกไม่เกิน 5 ปี ขณะที่ทายาททางการเมืองอย่างเขาก็ถูกจับตามองมาก รวมทั้งถูกศัตรูทางการเมืองวางแผนจะโค่นด้วย 

ในครั้งนี้ เขาจึงต้องการสร้างความไม่แน่นอนไว้ก่อน เลือกที่จะไม่วางตัวทายาททางการเมืองอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสคาดเดาว่าเขาสนใจจะครองอำนาจต่อไปอีกหรือไม่

พอดูจากการฉีกธรรมเนียมเกษียณในกรณีของหวางฉีซานในครั้งนี้ จึงยิ่งเหมือนสี จิ้นผิงต้องการจะเปิดทางเลือกว่า เมื่อถึงคราวเขาเอง เขาก็อาจฉีกธรรมเนียมเกษียณได้เช่นกัน