“สมาร์ทวีซ่า” อีกหนึ่งจูงใจ ดึงต่างชาติทำงาน-ลงทุนไทย

“สมาร์ทวีซ่า” อีกหนึ่งจูงใจ ดึงต่างชาติทำงาน-ลงทุนไทย

ประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย  

สมาร์ทวีซ่า เป็นวีซ่าประเภทพิเศษ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุน เข้ามาทำงานในไทย หรือ ลงทุนในไทยใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบไปเมื่อ 16 ม.ค.61 และเพิ่งเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.61 ที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนนั้นนอกเหนือจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์แล้ว การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ยกระดับการให้บริการแก่ภาคธุรกิจจนทำให้ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของไทยดีขึ้นจากอันดับที่ 46 ในปี 2559 มาเป็นอันดับที่ 26 ในปี 2560 ดังนั้น สมาร์ทวีซ่าจะยิ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

สมาร์ทวีซ่า จะเป็นเสมือนวีซ่าประเภทพิเศษสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ และเป็นกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

สมาร์ทวีซ่าจึงเป็นทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน หรือเวิร์ค เพอร์มิต โดยผู้ถือสมาร์ทวีซ่าจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่สำคัญ เช่น สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้สูงสุดคราวละไม่เกิน 4 ปี (จากเดิมสูงสุด 2 ปี), ได้รับขยายเวลารายงานตัวเป็นทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน), สามารถเข้าออกประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต หรือRe-entry permit (จากเดิมต้องขอใบอนุญาตทุกครั้ง) และสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาต ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี (แต่เดิมต้องรายงานตัว ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้ได้รับสิทธิสมาร์ทวีซ่าก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ในส่วนคุณสมบัติและประเภทของบุคลากรที่จะได้รับสมาร์ทวีซ่านั้น ตามข้อมูลบีโอไอ แบ่งเป็น 4 ประเภท  หรือกลุ่ม TIES ได้แก่

1.ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้ามาทำงานในกิจการเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ มีเงินเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 200,000 บาท มีสัญญาจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น

2.นักลงทุนต่างชาติ (Investor) ที่ลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการลงทุนโดยตรงไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในกิจการที่ได้รับการรับรองว่าเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิต เป็นต้น

3.ผู้บริหารระดับสูง (Executive) ที่มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานบริษัท กรรมการผู้จัดการ มีสัญญาจ้างงานไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น

4.ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ (Startup) ต่างชาติที่จัดตั้งขึ้นในไทย มีเงินฝากประจำในไทยหรือต่างประเทศไม่น้อยกว่า 600,000 บาท คู่สมรสและบุตรต้องมีบัญชีเงินฝากประจำไม่ต่ำกว่าคนละ 180,000 บาท มีกรมธรรม์คุ้มครองสุขภาพตลอดเวลาที่อยู่ในไทย เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมาย คาดว่าจะมาจากบริษัทชั้นนำของโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เคยให้ความสนใจลงทุนในอีอีซี ซึ่งจะมาจากหลายภูมิภาค ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล ตลอดจนกิจการโลจิสติกส์และเดินเรือชั้นนำ ซึ่งคาดว่าจะตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมใหม่ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

บุคลากรทักษะสูงที่จะได้รับสมาร์ทวีซ่านั้น ควรเป็นตำแหน่งระดับสูงหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจริงๆ ซึ่งก็จะช่วยเสริมบุคลากรไทยที่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ขาดแคลน เช่น วิศวกรด้านการบิน ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการ Internet of Things, Digitizer เป็นต้น เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ สมาร์ทวีซ่าในกรณีนี้จึงเป็นทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ช่วยต่อยอดการทำธุรกิจและยกระดับบุคลากรไทยไปพร้อมๆกัน

อย่างไรก็ดี สมาร์ทวีซ่าเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยจูงใจนักลงทุนในด้านที่มิใช่ภาษี คาดว่านักลงทุนยังต้องประเมินสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆจากบีโอไอที่ให้สิทธิ์อยู่เพิ่มเติมอีก อาทิ 1) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี 2) การยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบ 3) การได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา 4) การอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5) การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ 6) การบริการ One-stop Service แต่สิ่งที่สำคัญนอกจากตัวเงิน คือ กฎระเบียบ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนทักษะแรงงาน ซึ่งเมื่อนักลงทุนต่างชาติเห็นกระบวนการเหล่านี้มีความพร้อม ก็คาดว่าจะเห็นการลงทุนในไทยโดยเฉพาะโครงการอีอีซีที่ชัดเจนมากขึ้น