CVC มองข้ามสตาร์ทอัพไทย?

CVC มองข้ามสตาร์ทอัพไทย?

ความคึกคักของการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยในปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการลงทุนด้วย Seed fund จาก โครงการ Accelerator หลายโครงการแล้ว

การเข้ามาของ Corporate Venture Capital รายใหม่ๆ ภายใต้องค์กรยักษ์ใหญ่หลายองค์กร ทำให้ CVC กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็น New Engine ที่จะขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพไทยให้โตต่อไปได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะด้วยจำนวนของ CVC ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในประเทศรวมกันมากกว่าสิบบริษัท น่าจะเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญสำหรับวงการสตาร์ทอัพไทย ถึงแม้แนวโน้มจะดูว่ามีเม็ดเงินในตลาดมาก สตาร์ทอัพไทยก็ยังคงอยู่อันดับท้ายๆ ในภูมิภาคสำหรับมูลค่าการลงทุน ตามหลังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ เวียดนามด้วยสัดส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายเท่าตัว 

CVC ไทยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่ล้วนมีเป้าหมายในการลงทุนกับสตาร์ทอัพในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่กำลังอยู่ใน Growth Stage และอยู่ในธุรกิจที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจหลักขององค์กรได้

ทิศทางการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังถูกขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน คือการลงทุนของ Corporate Venture Capital กำลังแซงหน้าการลงทุนโดย VC ด้วยจำนวนของดีลที่น้อยกว่าแต่มูลค่าของเม็ดเงินที่สูงกว่ามาก ข้อมูลล่าสุดของ KPMG ระบุว่า ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของการลงทุนโดย CVC ในเอเชียขึ้นไปแตะจุดที่สูงสุดโดยมีสัดส่วนเกือบ 33% ของมูลค่าดีลทั้งหมดในขณะที่การลงทุนโดย VC และ Angel Investors ค่อนข้างจะแผ่วลงไป

แล้วจะทำอย่างไรให้ CVC หันมามองสตาร์ทอัพไทย? ผู้บริหารองค์กรใหญ่จากต่างอุตสาหกรรม มีมุมมองในเรื่องนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกันนั่นก็คือ สตาร์ทอัพไทยมีความเก่งในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่แพ้สตาร์ทอัพต่างชาติ แต่ไม่ค่อย “Well-rounded”  นั่นคือมีความสามารถเฉพาะตัวหรือเฉพาะทางที่โดดเด่น แต่ขาดความหลากหลายของทีมงานที่จะหลอมรวมกันเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างการเติบโตในโลกธุรกิจได้จริง

สิ่งที่ CVC กำลังมองหาในสตาร์ทอัพอาจจะมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างจาก VC นอกจาก ทีม โปรดักท์ โอกาสและมูลค่าของตลาดที่นักลงทุนมักจะใช้พิจารณาในการลงทุนกับสตาร์ทอัพแล้ว CVC ยังมองลึกลงไปในอีกสามประเด็นใหญ่ๆ คือ Diversity ความหลากหลายของความรู้ ความชำนาญและ ประสบการณ์ของทีมผู้ก่อตั้ง เพราะการลงทุนขององค์กรใหญ่คือการลงทุนเพื่อหวังขยายผลการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ไม่ใช่แค่ Exit เพื่อสร้างผลกำไรระยะสั้น ส่วนผสมที่หลากหลายลงตัวของทีมจะทำให้การนำสตาร์ทอัพเข้ามาต่อยอดกับธุรกิจองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า สองก็คือ Financial Focus ทีมงานต้องให้ความสำคัญกับเรื่องแผนงานในเชิง Financials เพราะ CVC จะมองเรื่องนี้เป็น KPI หลัก สามก็คือ Tech Trend Focus สตาร์ทอัพที่จับเรื่องที่อยู่ในกระแสของเทคโนโลยีจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษเพราะนั่นคือเกมที่ต้องแข่งกับความเร็วในมุมขององค์กรใหญ่

การจะเปลี่ยนจุดยืนจากการเป็นม้านอกสายตามาเป็นยูนิคอร์น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกำลัง เพราะในที่สุดความเก่งเฉพาะตัวหรือเฉพาะทางไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นใบเบิกทางให้ผ่านเข้าไปเล่นในเวทีใหญ่ได้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดกลับกลายเป็นความสามารถในการ “ดึงดูด” คนเก่งที่มาพร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเข้ามาร่วมทีมเพื่อนำธุรกิจไปสู่ ”บริษัทในระยะเจริญเติบโต” ไม่ใช่แค่ย่ำอยู่กับที่กับการอยู่ในวงจร “สตาร์ทอัพอาชีพ”