จีนกับสหรัฐ : ใครคืออภิมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์

จีนกับสหรัฐ : ใครคืออภิมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์

สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยคุณยุวดี คาดการณ์ไกล รองประธานสถาบันฯ รายงานว่า หลังเริ่มปีใหม่ 2018

ได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีรายงานฉบับหนึ่งออกมาให้วงการทางวิชาการโลกได้ตื่นเต้นกันพอๆ กับช่วงปี 2014 ที่โลกตื่นเต้นกับรายงานทางเศรษฐกิจที่ชี้ว่า จีนก้าวเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแล้วถ้าคิดจากกำลังซื้อที่เป็นจริงทางเศรษฐกิจ

ในปีนี้ รายงานของ The National Science Board of the National Science Foundation (NSB, NSF)  สหรัฐ เพิ่งเผยแพร่ตัวชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในรอบสองปี (The biennial Science & Engineering Indicators) เป็นรายงานที่แสดงตัวเลขเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และวิศวกรรม

ข้อสรุปที่สำคัญในรายงานฉบับนี้คือ จีนได้กลายเป็นหรือเกือบจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการ ซึ่งทำให้ความปรารถนาของจีนที่จะเป็นผู้นำทางการทหารและทางเศรษฐกิจใกล้ความเป็นจริงขึ้นทุกทีด้วย

ตัวชี้วัดที่สะท้อนความน่าทึ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนวันนี้ คือ

จีนกลายเป็นผู้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก คิดเป็น 21 %ของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของโลก (เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ข้อมูลปี 2015) แม้ว่าสหรัฐยังเป็นผู้ลงทุนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 26 % 

แต่ถ้าอัตราการเติบโตของเงินทุนวิจัยยังคงอยู่ในระดับนี้ อีกไม่นานจีนก็จะไล่ทันขึ้นเป็นผู้ลงทุนด้านการวิจัยรายใหญ่ที่สุดของโลก ดูจากข้อมูลในช่วงปี 2000 ถึง 2015 การใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 18 % ต่อปี มากกว่าอัตราการเติบโตของสหรัฐถึง 4 เท่า ซึ่งอยู่ที่ 4% เท่านั้น

บทความทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดเป็นครั้งแรก มากกว่าสหรัฐ แต่น้อยกว่ากลุ่ม EU (ซึ่งนับรวมหลายประเทศ) 

สหรัฐและกลุ่ม EU เน้นผลิตผลงานทางการวิจัยมากในด้านชีวการแพทย์ (Biomedical Sciences) แต่จีนเน้นผลิตผลงานและเป็นผู้นำในด้านวิศวกรรมศาสตร์

กำลังคนทางด้านวิชาการของจีนกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลระหว่างปี 2000 ถึง 2014 ผู้จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีของจีนเพิ่มจาก 359,000 คน เป็น 1.65 ล้านคน เทียบกับสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในระดับปริญญาตรีจาก 483,000 คนเป็น 742,000 คน ทำนองเดียวกันกับระดับปริญญาเอก

จะเห็นว่า จีนไม่เพียงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในทางเทคโนโลยี แต่ยังมีความทะเยอทะยานมากขึ้นด้วย 

หากมองลึกลงไปภายในประเทศจีนเวลานี้ เราจะเห็นว่า รัฐบาลกลางของจีนได้หว่านเมล็ดพันธุ์ลงทุนสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไว้หลายพื้นที่ เช่น

เขตเศรษฐกิจใหม่สงอาน (Xiong-an) ที่รวบรวมเมืองเล็กๆ และหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่งห่างออกมา 100 กิโลเมตร ถูกออกแบบให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ มีการพูดถึงการย้ายหรือขยายพื้นที่มหาวิทยาลัยไปที่สงอาน และมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งก็กำลังสนใจ 

ที่แห่งนี้กำลังจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย รัฐบาลจีนเองก็มุ่งหวังในอนาคตว่าเขตเศรษฐกิจใหม่นี้จะสามารถพัฒนาให้ทัดเทียมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นและเขตเศรษฐกิจใหม่ผู่ตงของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดของจีน

เฉิงตู เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูง ปัจจุบันมี 500 บริษัทเปิดดำเนินการอยู่ 

จีนยังวางแผนให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงที่จะเชื่อมโยงออกไปยังเอเชียกลาง ผ่านความริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI)

ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากแค้น ได้เริ่มดำเนินการที่จะเปลี่ยนเมืองหลวงของมณฑลคือเมืองกุ้ยหยาง และพื้นที่โดยรอบให้เป็น Big Data Valley ของประเทศ 

จีนได้ออกมาตรการจูงใจทางภาษี และจัดหามาตรการสนับสนุน เพื่อดึงดูดบริษัทอย่าง Microsoft, Huawei, Hyundai Motor, Tencent, Qualcomm, และ Alibaba ไปตั้งสำนักงานในเขตเศรษฐกิจใหม่ของเมืองกุ้ยอาน อีกเมืองหนึ่งในมณฑลกุ้ยโจว เพื่อสร้างแรงจูงใจดึงดูดบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นสูง 

รัฐบาลท้องถิ่นคาดหวังว่าการลงทุนในพื้นที่แห่งนี้จะสูงถึง 3.34 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ และจะเพิ่มตำแหน่งงานสูงถึง 30,000 ตำแหน่ง (Jack Ma กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์ China Daily ว่า ถ้าเราพลาดโอกาสการลงทุนในมณฑลกวางตุ้งหรือเจ้อเจียงเมื่อ 30 ปีก่อน วันนี้เราไม่ควรพลาดการลงทุนที่กุ้ยโจว)

ทางการจีนคงไม่หยุดที่เสิ่นเจิ้นและกุ้ยหยางเพียงเท่านี้ เราจะเห็นแบบแผนการดำเนินงานลักษณะนี้ได้ในอีกหลายเมืองในจีน ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นเมืองที่พัฒนาโดยเน้นการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม

อนึ่ง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนจะทุ่มเททั้งเงินทุนและทรัพยากรลงไปอีกมหาศาล เพราะเป็นหนึ่งในความฝันจีน (China Dream)

มีข้อคิดจากนักการเงินและนักลงทุน Dr. Jim Rogers อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่วันนี้ได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่สิงคโปร์ ท่านมองว่า ตัวท่านเป็นชาวตะวันตก และอยากให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาและวัฒนธรรมแบบตะวันออกคือจีน  เพราะท่านเห็นแล้วว่า ศตวรรษที่ 19 เป็นของอังกฤษ ศตวรรษที่ 20 เป็นของอเมริกา และศตวรรษที่ 21 เป็นของจีน 

นี่คือปรากฏการณ์บูรพาภิวัตน์ ที่ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอแนวคิดนี้ไว้ให้สังคมไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่กำลังเกิดขึ้นจริง

สิงคโปร์ในวันนี้ได้จัดระบบการศึกษาของตนให้รับประโยชน์จากบูรพาภิวัตน์แล้ว ซึ่งยิ่งได้รับการตอกย้ำจากการจัดอันดับเมืองของโลกในการลงทุนวิจัยและพัฒนาทางด้าน Life Sciences

fDi Intelligence พบว่าสิงคโปร์ติดอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองซูโจว เมืองดับลิน (ไอร์แลนด์) เมืองเคลย์ตัน และซานฟรานซิสโก (สหรัฐ) เมืองอิสกันดาร์ (มาเลเซีย) เมืองดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เมืองปักกิ่ง เมือง Luterbach (สวิตเซอร์แลนด์) และเมืองหางโจว เป็นอันดับที่ 11

เมื่อเห็นข้อมูลข้างต้นแล้ว การวิจัยและการศึกษาไทยอาจต้องกลับมาคิดทบทวนอย่างจริงจังว่า เพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่ของศตวรรษแห่งการพัฒนา เหตุใดจีนจึงเติบโตทะยานขึ้นมา และกำลังจะกลายเป็นผู้นำในหลายๆ ด้าน 

ดร. Yukon Huang นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันแห่งสถาบัน Carnegie ของสหรัฐตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ทั่วไปที่ใช้อธิบายจีนน่าจะผิด

ท่านชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ถ้าไม่เข้าใจวิถีการพัฒนาที่นำมาสู่ความสำเร็จของจีนวันนี้ การทำนโยบายสาธารณะของประเทศก็จะผิดพลาด และจะยิ่งพัฒนาก้าวไม่ทันจีน

แทนการพร่ำบ่นเกรงกลัวว่าจีนจะคุกคาม ไทยเราควรหันมาเร่งเรียนรู้ ปรับตัว และสร้างเสริมร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับจีนและโลกตะวันออกเพื่อปรับสมดุลการพัฒนาให้เข้ากับยุคบูรพาภิวัตน์

โดย... 

สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ

วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต