ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง สร้างกลไกความรู้“เอชไอเอ”

ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง สร้างกลไกความรู้“เอชไอเอ”

ฮิเดกิ อิวาซากิ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) ประจำประเทศไทย สะท้อนมุมมองผ่านผลลัพธ์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้และความเจริญ ส่งผลให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การค้า และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6% แต่ในทางกลับกันก็นำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาวะของประชาชน ทั้งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาขาดแคลนน้ำ และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

เมื่อ “การลงทุนและการพัฒนา” เป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง และเพื่อให้การพัฒนานั้นๆ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB จึงหยิบยก “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” (Health Impact Assessment หรือ HIA) ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างทั้งข้อมูลวิชาการและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะให้ข้อมูลภาคนโยบายในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผู้แทนจากคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย องค์กรระหว่างประเทศ ภาคีด้านการลงทุนจากกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงนอกอนุภูมิภาค เช่น ภูฏาณ ออสเตรเลีย ฯลฯ ได้ร่วมประชุมระดมความเห็นภายใต้หัวข้อ “Healthy Infrastructure for Healthy Economies” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การศึกษา HIA และหลักสูตรการเรียนการสอนจากนานาประเทศ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ จัดการเรียนการสอนด้าน HIA ไปจนถึงทิศทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครื่องมือ HIA ในระดับนานาชาติ

ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังตื่นตัวเรื่องการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ การจัดการเรียนการสอนด้าน HIA การออกกฎหมายและจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับกระบวนการทำ HIA รวมไปถึงการศึกษา HIA ในหลายกรณี เช่น โครงการพัฒนาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการบำบัดน้ำเสีย เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา การจัดการน้ำเสียและระบบระบายน้ำของนครโฮจิมินห์ เวียดนาม และโครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ลาว ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างลาว และไทย เป็นต้น

“การทำ HIA ต้องตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการที่ประจักษ์ชัดว่า ต้นทุนทางสุขภาพจากโครงการพัฒนาต่างๆ จะเป็นอย่างไร เชื่อมโยงกับข้อมูลของชุมชน นำไปสู่การตัดสินใจโดย ผู้กำหนดนโยบาย เกิดการแบ่งปันประโยชน์อย่างทั่วถึง เป็นธรรม” คำกล่าวตัวแทนจาก ADB

ในส่วนของไทย ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนจากประเทศไทย ระบุถึงการพัฒนากระบวนการ HIA มาถึง 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงยังถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย

นอกจากนี้ HIA ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ยังกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน โดยมีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2552 และปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยประกาศฉบับที่ 2 เมื่อปี 2559 เพื่อให้เกิดการนำ HIA ไปใช้อย่างครอบคลุมทั้งในระดับนโยบายและโครงการ รวมถึงการทำ CHIA (Community Health Impact Assessment) หรือ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับชุมชนด้วย

“สำหรับประสบการณ์ของไทย HIA ไม่ได้เป็นเพียงกลไก แต่เป็นเครื่องมือให้เกิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน สร้างการเรียนรู้ของสังคมและชุมชนให้หันหน้ามาคุยกันและรับฟังกัน ดังนั้น จึงมีการนำ HIA ไปใช้ในหลายระดับ” คำกล่าวจากตัวแทนประเทศไทย

ด้าน นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ระบุว่า การนำ HIA ไปใช้ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน สำหรับไทยได้วางหลักเกณฑ์กลางเรื่อง HIA เอาไว้ แต่เมื่อจะพัฒนาโครงการแต่ละสาขา เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำไปประยุกต์หรือปรับใช้ได้ เช่น พ.ร.บ.แร่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดทำหลักเกณฑ์และคู่มือการนำ HIA ไปปรับใช้ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย แผนงาน และระดับโครงการรวมถึงกิจกรรม พร้อมกับการสร้างนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ HIA ขึ้นมารองรับการทำงานด้านนี้ให้มากขึ้น

HIA ไม่ใช่อาวุธที่จะไปสู้รบเพื่อเอาชนะกัน แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุด” นพ.วิพุธ กล่าว

พัฒนาการในเชิงบวกของประเทศไทย ทำให้ชาติต่างๆ หันมาสนใจที่จะเรียนรู้ โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า HIA เป็นกระบวนเรียนรู้ร่วมกันทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงพัฒนามาสู่การทำ Community Base และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยภาคประชาชนเอง

ที่ผ่านมามีพื้นที่ที่นำข้อมูล CHIA ไปใช้อย่างได้ผลคือ ชุมชนในอ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความกังวลต่อโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก จึงจัดทำกระบวนการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยศึกษาข้อมูลในประเด็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในบริเวณดังกล่าว รวมถึงสายพานเศรษฐกิจต่อเนื่อง ที่เกิดการจ้างงานและอาชีพต่อเนื่องจากความสมบูรณ์ของทะเล จนนำมาสู่ใช้ข้อมูลพิจารณาควบคู่กัน ขยายผลเป็นการจัดทำข้อมูลอนาคตคนท่าศาลา และเป็นตัวอย่างให้ชุมชนริมทะเลนำไปประยุกต์ใช้ “HIA ในประเทศไทยยังต้องพัฒนาต่อ” ดร.เดชรัต ระบุ พร้อมกล่าวต่อไปว่า ควรมีกฎหมายใหม่ที่เชื่อมโยงการทำ HIA เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรือ การพัฒนากลไก การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)เป็นต้น

ประสบการณ์จากเวที HIA Forum ครั้งนี้ ช่วยยกระดับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพให้นานาชาติได้เห็นประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้หลักการที่ว่า “Leaving No One Behind” หรือ “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ​ ซึ่งประเทศไทยยึดเป็นเป้าหมายสำคัญด้วยเช่นกัน

โดย... กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ