ลูกน้อง 4.0

ลูกน้อง 4.0

ยุค 4.0 ไม่ใช่แค่หัวหน้าที่ต้องทุบโต๊ะ แต่ลูกน้องก็ต้องเรียนรู้ที่จะทุบโต๊ะเช่นเดียวกัน

“Thun. I finally managed to read your piece.” ซีอีโอของผมตอบอีเมลมาหลังวันหยุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมใจเต้นตี๊กๆ เพราะส่งงาน Great to Good ไปให้แกอ่าน เปิดมาอย่างนี้อาจจะออกหัวหรือก้อยก็ได้

“In a word, IT IS BRILLIANT.” ย้ำมาเป็นตัวใหญ่ซะด้วย

ราจีฟ Reply All ให้กับทีมผู้บริหารสิบกว่าชีวิต “ผมรวมคนอื่นๆไว้ในอีเมลตอบนี้ เพราะอยากให้ทุกคนได้รับรู้ถึงสิ่งที่คุณทำ You did not simply use existing Iclif work to tell a story. Instead, you used our existing work as the foundation, offered a new idea, and embellished it with well-researched facts คุณไม่ได้แค่ทำงานอย่างที่เราเคยทำกันมา แต่คุณต่อยอด ให้มุมมองใหม่ พร้อมข้อมูลสนับสนุนที่ทำการบ้านมาอย่างดี”

“Bravo!! In line with your own sentiments presented in your article, you are demonstrating what you call 21st century innovation. ผมขอปรบมือดังๆให้ เหมือนกับสิ่งที่คุณเขียน คุณทำให้เห็นว่านวัตกรรมในยุคศตวรรษที่ 21 นี้เกิดขึ้นอย่างไร”

สารภาพตรงๆ ว่า แอบตัวลอยนิดหน่อย เพราะคงไม่ใช่ทุกวันที่ใครจะได้รับอีเมลเช่นนี้จากเบอร์หนึ่งขององค์กร โดยเฉพาะจากคนที่เป็นนักเขียน นักคิด โค้ชผู้บริหารระดับโลก และเป็นที่รู้กันว่า ‘โคตรเขี้ยว’

ที่เขียนมานี่ไม่ใช่เพราะ(แค่)อยากคุยว่า ได้รับคำชมจากหัวหน้า แต่อยากเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกน้องยุคใหม่ ลูกน้องที่ต้องดื้อทุบโต๊ะ โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าที่ Autocratic อย่างราจีฟ

ทำอย่างไรล่ะ หากอยากจะเต้นรำกับหัวหน้าแบบเผด็จการ How to dance with the autocrat

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. Look for impossibilities เริ่มจากการหมั่นมองหาโจทย์ที่เป็นไปไม่ได้

ผู้นำสมองต้องฝึกหูให้ได้ยินประโยคประเภท You can’t do that here หรือ We’ve tried that but it doesn’t work หรือ Nobody has ever done it

หนึ่งปีแรกของการทำงานที่นี่ ทุกคนในองค์กรบอกผมว่า ราจีฟคือพระเจ้า ทุกอย่างเราต้องปฏิบัติตามสิ่งที่เขาเชื่อและบอก โปรแกรมทั้งหมดที่เรานำเสนอให้กับลูกค้าเกิดจากเนื้อหาจากหนังสือของเขา ในอดีตที่ผ่านมาผู้กล้าท้าทายพบบทสรุปสองอย่าง 1) อยู่ไม่ได้ต้องลาออกไปโตที่อื่น กับ 2) เรียนรู้ที่จะหุบปากและคล้อยตามนายเพื่อความอยู่รอด

เมื่อเราเจอประโยคหรือเหตุการณ์แบบนี้ ผู้นำสมองจงดีใจให้มาก เพราะนี่คือโอกาสของคุณในการสร้างชื่อให้กับตัวเอง

2. Be autocratic, too คนส่วนมากเชื่อว่า หัวหน้าที่ Top-Down มักชอบลูกน้องที่หัวอ่อนและเชื่อฟัง เหมือนพ่อแม่ที่ดุมักชอบให้ลูกไม่ดื้อไม่เถียง

แต่ส่วนตัวผมเห็นต่าง ผมคิดว่าหัวหน้าที่เผด็จการจริงๆแล้ว ชอบลูกน้องที่เผด็จการเช่นเดียวกัน ตอนนี้ที่ Iclif เรากำลังศึกษาอยู่ว่า ผู้นำในประเทศอื่นๆ คิดเหมือนหรือต่าง แต่ไม่ว่าผลจะออกอย่างไร ลูกน้องยุคนี้ไม่สามารถทำตัวเป็นผู้ตามที่เดินต้อยๆได้อีกแล้ว เพราะคู่แข่งของเราคือ Computers และ Robots ซึ่งไม่ว่าเราจะหุบปากและตั้งใจทำงานได้ดีแค่ไหน ก็ไม่มีทางสู้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้

จุดแข็งที่ยังเหลืออยู่ของมนุษย์คือการท้าทายระบบ เพราะสิ่งที่ AI (ยัง)ทำไม่ได้คือการทุบโต๊ะสวนทางกับโปรแกรมเมอร์

3. Be smart and adapt ลูกน้องต้องใช้สมองเพื่อทุบโต๊ะอย่างชาญฉลาด

ความต่างระหว่างเรากับหัวหน้าคือ Position Power เราไม่มีตำแหน่งที่จะอนุมัติงาน หรือไปชี้นิ้วสั่งคนโน้นคนนี้ได้ ช่วงปีใหม่ของปีแรกที่มาถึง ผมนั่งไม่ขยับอยู่หน้าคอม เขียนรายงานส่งราจีฟไปกว่า 70,000 ตัวอักษร ถูกแกโยนทิ้งลงขยะในพริบตา แถมฟีดแบ็คว่าผมคิดอะไรไม่ได้เรื่อง และเท่าที่รู้เพื่อนๆอาจารย์ที่ทำงานอยู่ด้วยกันก็ถูกโยนงานทิ้งทั้งสิ้น

ผมจึงกลับมานั่งพิจารณาดูด้วย BASE Model สไตล์ของราจีฟคือแกเป็นคนมี Belief ที่แข็งแรง ข้อดีของคนลักษณะนี้คือจะมุ่งมั่นทำอะไรทำจริง แต่ข้อเสียคือมักไม่เปิดรับ Belief ของคนอื่น ผมจึงเปลี่ยนยุทธวิธีเป็น Social

จากที่เคยนัดนำงานไปเสนอขออนุมัติ เป็นขอนัดแกกินข้าวทุกสองสัปดาห์แทน แล้วค่อยๆ แย็บไอเดียใส่สมองไปเรื่อยๆ พอนายเริ่มเห็นดีเห็นงาม เราก็เอาไอเดียนั้นกลับมาเขียนส่ง เป็นที่มาของอีเมลตัวลอยข้างต้น

หมั่นมองหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดื้อดึงมุ่งมั่นกับความคิดของตัวเอง และฉลาดในการเข้าใจหัวหน้า แล้วคุณจะเป็นลูกน้องที่ประสบความสำเร็จในยุค 4.0 ครับ!