ข่าวดี..ข่าวร้าย คืนเก้าอี้ผู้ว่าฯ

ข่าวดี..ข่าวร้าย คืนเก้าอี้ผู้ว่าฯ

วันสองวันที่ผ่านมาเห็น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกทำนองได้รับรายงานผลการตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริต

ของผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ตามคำสั่งมาตรา44 ให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เพราะต้องการให้มีการตรวจสอบ แต่ที่ วิษณุ ออกมาบอกและกลายเป็นข้อสงสัยขึ้นมาทันทีนั่นคือ “ไม่พบมีการทุจริตเกิดขึ้น” บอกด้วยว่า “เมื่อไม่พบความผิดก็จะทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา ว่าจะให้กลับไปตำแหน่งเดิมหรือไม่”

    ฟังดูเป็นเรื่องที่ดีที่จะคืนเก้าอี้ให้กับผู้ว่าฯ ที่ถูกโยกย้ายเพราะผลการตรวจสอบ “ไม่พบความผิด” แต่ก็มีบางอย่างที่ทำให้อดคิดและสงสัยไม่ได้ ทำไมเรื่องนี้ถึงเพิ่งมาประจวบเหมาะเอาตอนนี้ งงหนักไปกว่านี้ ทำไมเมื่อถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตการสอบสวนมันถึงล่าช้าเหลือเกิน จะมานั่งอ้างโน่นอ้างนี่ ทำนองไม่ได้รับความร่วมมือจากการสอบสวน ไม่น่าจะตรงประเด็นสักเท่าไหร่  เพราะการตั้งคณะกรรมการสอบสวนในรัฐบาลแบบนี้ “ใครจะกล้าไม่ให้ความร่วมมือ” หากมีการสอบสวนกันจริงจัง ไม่เชื่อว่าจะมีความยุ่งยากอย่างที่พูดๆ กัน

    การใช้มาตรา44 ย้ายผู้ว่าฯช่วงที่ผ่านมา น่าจะมี นับสิบราย  ผู้ว่าฯที่ถูกมรสุมมาตรา 44 มักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “อัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่สํานักนายกรัฐมนตรี” หรือไม่ก็อยู่ในตำแหน่ง “ผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี” เป็นส่วนใหญ่  เอาเป็นว่าผู้ว่าฯจังหวัดไหน ถูกเผด็จศึกด้วยมาตรา44 มักไม่ค่อยปกติสุขสักเท่าไหร่ 

     มาวันนี้บอกว่าผลการตรวจสอบของผู้ว่าฯ “ไม่พบความผิด” ถามว่า ถ้าผู้ว่าฯคนไหน หากเกษียณอายุราชการไปแล้วในระหว่างที่มีการตรวจสอบยังไม่เสร็จสิ้น แล้ว จะให้เขาเกษียณในตำแหน่งไหน? เช่นเดียวกับผู้ว่าฯที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ จะคืนตำแหน่งให้บนเก้าอี้ผู้ว่าฯจังหวัดไหน? หากจังหวัดเดิมมีการแต่งตั้งคนใหม่ไปแล้ว เพราะการสั่งย้ายผู้ว่าฯดูเหมือนมีมาตั้งแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  

    ฉะนั้นข้อเสนอที่จะคืนตำแหน่งให้กับผู้ว่าฯที่ถูกโยกย้ายก่อนหน้านี้  จะทำได้ในรูปแบบไหน ที่สำคัญทำไมถึงมาทำเรื่องแบบนี้กันช่วงนี้ จึงไม่ค่อยแน่ใจจะเป็นข่าวดีสักแค่ไหน กับข่าวคราวคืนเก้าอี้ผู้ว่าฯตอนนี้ 

หากเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงต่างๆ ที่ถูกโยกย้ายก่อนหน้านี้ หากไม่พบความผิดการกระทำผิด จะทำเช่นเดียวกันหรือไม่