ผู้นำกับความฉลาดทางอารมณ์

ผู้นำกับความฉลาดทางอารมณ์

นักวิชาการได้ศึกษาคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ความฉลาดทางอารมณ์

ผู้นำบางท่านอาจจะมีสติปัญญา ความสามารถในการทำงาน ความสามารถในการบริหารที่ดี แต่ถ้าขาดความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence หรือ EI) ผู้นำดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะนำพาองค์กรได้อย่างเต็มที่ ตามศักยภาพที่มี 

มีงานวิจัยที่ระบุเลยว่าสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จมากกว่าผู้อื่นนั้น เมื่อศึกษาถึงสาเหตุสำคัญลึกๆ แล้ว ร้อยละ 90 พบว่ามาจากความฉลาดทางอารมณ์มากกว่าความฉลาดทางสติปัญญา

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเราได้ยินเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์มานานพอสมควร แต่จริงๆ แล้วคืออะไร

John Mayer ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่อง EI ได้ระบุไว้ว่า EI เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เข้าใจถึงสัญญาณต่างๆ ที่อารมณ์เหล่านั้นส่งออกมา และความสามารถในการบริหาร ดูแลอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น

คำถามต่อมาคือ จะพัฒนาหรือเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นผู้ใหญ่หรือผู้นำ

เริ่มแรกสุดคือ การที่เราจะต้องรู้จักตนเอง หรือ Self-Awareness ซึ่งหมายถึงความเข้าใจในอารมณ์ จุดแข็ง จุดอ่อน ความต้องการ ความปราถนาของตนเอง

ผู้ที่เข้าใจและรู้จักตนเองอย่างดีพอ จะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น 

ตัวอย่างง่ายๆ ของการรู้จักตนเองก็คือบุคคลผู้นั้นมีอารมณ์ขันเพียงพอที่จะล้อเลียนตนเองหรือไม่ เช่น ล้อเลียนในความขี้ลืมของตนเอง หรือ ยอมรับและล้อเลียนในความอ้วนของตนเอง เป็นต้น

การที่เราจะรู้จักตนเองได้ดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยผู้อื่นช่วย เนื่องจากเป็นการยากที่ตัวเองจะมองเห็น เข้าใจ และวิเคราะห์ตัวเองได้อย่างถูกต้อง (โดยไม่มีอคติลำเอียง) การได้รับ feedback หรือความคิดเห็นจากผู้อื่น จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้เรารู้จักตนเองได้ดีขึ้น และยิ่งถ้าได้รับ feedback จากคนมากกว่า 1 คนก็ยิ่งจะทำให้เห็นตนเองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

เมื่อรู้จักตนเองดีแล้ว ก็ต้องรู้จักที่จะควบคุมตนเอง เนื่องจากหลายคนในสังคม ยอมรับว่าตนเองเป็นคนเจ้าปัญหา ชอบสร้างปัญหาให้กับผู้อื่นและองค์กร แต่ก็ยังคงสร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ เพราะคนเหล่านี้ขาดความสามารถที่จะควบคุมตนเอง (Self-Regulation)

ได้มีโอกาสพบเจอผู้บริหารบางท่านที่เป็นคนฉลาด ทำงานเก่ง รู้จักตนเองดี แต่ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ดังนั้นหลายๆ ครั้งเมื่อมีอารมณ์หรือความรู้สึกใดเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะห้ามตนเองไม่ให้แสดงออกมาได้ ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เหมาะสมและไม่ถูกกาลเทศะ (และมักจะให้ข้ออ้างกับตัวเองว่าเป็นคนพูดตรงๆ ปากตรงกับใจ แต่จริงๆ แล้วคือความฉลาดทางอารมณ์ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกเยอะ)

องค์ประกอบถัดมาของความฉลาดทางอารมณ์คือเรื่องของ แรงจูงใจ 

แรงจูงใจในที่นี้ไม่ใช่แรงจูงใจ ที่มาจากปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน สถานะ หรือ สิ่งของต่างๆ แต่ผู้ที่มี EI สูงมักจะมีแรงจูงใจมาจากภายในที่ต้องการที่จะบรรลุหรือทำบางสิ่งให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นผู้นำแล้ว แรงจูงใจสำหรับผู้นำที่มี EI สูงนั้นคือเพื่อความสำเร็จบางอย่างที่ต้องการบรรลุ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จขององค์กร หรือ เพื่อให้ประเทศและสังคมดีขึ้น

องค์ประกอบสุดท้ายของ EI คือการเข้าใจในอารมณ์​ความรู้สึกของผู้อื่น และความสามารถในการปฏิบัติต่อผู้อื่นตามอารมณ์ หรือความรู้สึกของบุคคลผู้นั้น ซึ่งคำภาษาอังกฤษที่เรียกกันคือ Empathy 

อย่างไรก็ดีความเข้าใจในผู้อื่นนั้นก็ต้องมีจุดสมดุล เพราะถ้ามากเกินไปตนเองก็จะเดือดร้อน หรือ เกินสิ่งที่ตนเองจะควบคุมได้ ขณะเดียวกันถ้าน้อยเกินไป ก็เหมือนคนที่เย็นชาและไม่สนใจผู้อื่น

ลองมองไปที่ผู้นำรอบๆ ตัวแล้วในอีกมุมมองที่เราจะตัดสินผู้นำนั้น นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถในการทำงาน และความฉลาดทางสติปัญญาแล้ว ลองพิจารณาท่านเหล่านั้นจากมุมมองของความฉลาดทางอารมณ์บ้างก็นะครับ